ที่ศาลาเอนกประสงค์บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต นำโดย นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต นายสายันห์ ข้ามหนึ่ง ผู้อำนวยการ สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ทีมงานภาคสนาม ได้ลงพื้นที่เพื่อสรุปโครงการงานวิจัยจาวบ้าน โดยมีชาวบ้านที่เป็นนักวิจัยชาวบ้านจาก บ้านสบคำ สบกก เชียงแสนน้อย อ.เชียงแสน บ้านปากอิง อ.เชียงของ และบ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ซึ่งเป็นชาวประมงแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา และกลุ่มสตรีปลูกพืชริมแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นนักวิจัยชาวบ้านที่ได้ร่วมโครงการและให้ข้อมูลงานวิจัยแก่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตมาร่วมกิจกรรม
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา กล่าวว่า การทำงานเกี่ยวกับแม่น้ำโขงได้ดำเนินงานมากว่า 19 ปี กำลังจะเข้าสู่ปีที่ 20 แล้ว ที่ได้ทำงานในองค์กรสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต และภาคีความร่วมมือ ทั้งองค์กรในประเทศ และต่างประเทศ โดยการทำงาน คือช่วงแรก คือศึกษาการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบของแม่น้ำโขง ในช่วง 10 ปีแรก ตั้งแต่ปี 2545 โดยใช้องค์ความรู้ท้องถิ่น และทางวิชาการ หลังจากที่ได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงแล้วก็ได้มีความพยายามที่จะไปบอกคนที่สร้างเขื่อนว่า พอก่อนได้ไหม อยากให้ลงมาดูว่าชาวบ้านเดือดร้อนอะไรบ้าง ซึ่งเขาก็รับฟัง แต่ก็ยังไม่เกิดการแก้ไขปัญหา ในครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 สิ่งที่เราได้บอกไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา มันหนักขึ้นเรื่อยๆ จากที่ชาวบ้านไปหาปูหาปลา ที่มีเรือกว่า 100 ลำ ลดเหลือเพียงหลัก 10 ลำ บางวันลงหาปลาได้เพียงลำ 2 ลำ
ซึ่งทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต และองค์กรภาคีเครือข่าย ได้พยายามที่จะประสานงานกับรัฐบาลไทยถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งทางรัฐบาลไทยก็ได้รับรู้รับทราบถึงปัญหา และได้เอาปัญหาของพี่น้องชาวบ้านไปเสนอกับ คณะกรรมการแก้ไขปัญหา โดยได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ เข้ามาช่วยเหลือดูแล ทั้งเรื่องการเกษตรริมแม่น้ำโขง และการประมง ซึ่งอยู่ในระหว่างเก็บข้อมูล ซึ่งเราได้มีเป้าหมาย 38 หมู่บ้านริมแม่น้ำโขง ในจังหวัดเชียงราย
“ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 20 แล้ว การแก้ปัญหายังไม่เต็มที่เท่าที่ควร งานวิจัยในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่เราจะรวบรวมให้กับกลุ่มที่พัฒนาแม่น้ำโขงและสร้างเขื่อนไปเรื่อยๆ และหลังจากนี้ เราจะได้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านริมแม่น้ำโขง ว่ารัฐจะเข้ามาช่วยได้อย่างไรบ้าง ซึ่งถือเป็นความสำคัญที่จะต้องให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น คือความรับผิดชอบต่อผลกระทบจากคำว่าพัฒนาเพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดริมแม่น้ำทั้งสายได้รับกลับคืนมา” นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตกล่าว
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.