เขื่อนอุบลรัตน์ปรับการระบายน้ำที่วันละ 6-8 แสน ลบ.ม.รับปรากฎการณ์เอลนีโญ ให้มีน้ำใช้ถึงฤดูฝนปีหน้า พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยตลอดทั้งปี
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 ก.ค.2566 ที่สำนักชลประทานที่ 6 จ.ขอนแก่น นายสมปอง ฉ่ำกระมล ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 6 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ลุ่มน้ำชี ครอบคลุม 5 จังหวัด คือ ชัยภูมิ, ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์และร้อยเอ็ด มี 3 เขื่อนใหญ่ที่ใช้ในการกักเก็บน้ำ คือ เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ โดยปีนี้ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำต่อเนื่อง 2 ปี เพื่อรับมือกับสถานการณ์เอลนีโญ่ที่เกิดขึ้น โดยคณะกรรมการจัดการน้ำเตรียมจัดการบริหารน้ำ 2 ปี เริ่มตั้งแต่ฤดูฝนปีนี้ จนถึงฤดูฝนปีหน้า ซึ่งต้องบริหารจัดการน้ำให้มีเพียงพอจนถึงปีหน้าให้ได้ ด้วยการวางมาตรการรับมือด้วยการให้เกษตรกรลดการเพาะปลูก หรือปรับเปลี่ยนไปใช้พื้นใช้น้ำน้อย
“ จากปรากฎการณ์เอลนีโญ่ สำนักงานชลประทานที่ 6 วางแผนการใช้น้ำ 2 ปี ในส่วนของน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคยืนยันว่ามีเพียงพอ แต่ไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืชใช้น้ำมาก ทำให้ขอความร่วมมือประชาชนในการลดการเพาะปลูกลง หรือปรับไปปลูกพืชใช้น้ำน้อย แต่หากน้ำมีไม่มากเตรียมประสานขอความร่วมมือ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือเติมน้ำฝนให้เขื่อนใหญ่ทั้ง 3 แห่ง เพื่อให้มีน้ำเพียงพอจนกว่าสถานการณ์น้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติ”
นายสมปอง กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบัน 3 เขื่อนใหญ่กักเก็บน้ำได้ประมาณ 2,500 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนจุฬาภรณ์ มีน้ำ 60.29 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36 , เขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำ 815 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 และเขื่อนลำปาว มีน้ำ 950.40 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ในระยะนี้จึงรอน้ำฝนที่ตกลงมาเติม ซึ่งถือว่าเขื่อนขนาดใหญ่ยังคงรองรับน้ำได้อีกมาก ส่วนการระบายน้ำในระยะนี้ได้กำหนดให้ เขื่อนอุบลรัตน์ระบายน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคประมาณวันละ 600,000-800,000 ลบ.ม. เขื่อนลำปาวยังคงระบายน้ำตามปกติ ส่วนเขื่อนจุฬาภรณ์ระบายเพื่ออุปโภคบริโภคเพียงอย่างเดียว ในภาคการเกษตรขอความร่วมมือเกษตรกรให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและรองน้ำฝนไว้ใช้เผื่อช่วงฤดูแล้งด้วย
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.