วันที่ 18 เม.ย.57 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายธีรพงษ์ เผ่ากา พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ ต.ห้วยสัก นำประชาชนในพื้นที่ ต.แม่อ้อ อ.พาน ประมาณ 500 คน เข้าร้องเรียนกับ นายพงศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชกาจังหวัดเชียงราย เพื่อให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำในไร่นา บ้านสันป่าเหียง ม.15 ต.ห้วยสัก อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งใช้น้ำจากโครงการพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำห้วยอ้อ ม.1 ต.แม่อ้อ อ.พาน จ.เชียงราย โดยใช้ระบบท่อส่งน้ำผ่านหลายหมู่บ้าน โดยสิ้นสุดโครงการที่ปมู่บ้านห้วยสัก อ.เมือง จ.เชียงราย ทำให้ชาว ต.แม่อ้อ ไม่มีน้ำพอใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร เหมือนปีที่ผ่านๆ มา
โดยการมารวมตัวกันในครั้งนี้เนื่องจาก โครงการดังกล่าวเป็นโครงการท่องส่งน้ำขนาด 125 มิลลิเมตร ความยาว 8,020 เมตร เริ่มก่อสร้างวันที่ 1 ก.พ.57 สิ้นสุดโครงการวันที่ 30 มิ.ย.57 โดยมีระยะเวลาในการก่อสร้าง 120 วัน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 6,040,000 บาท ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการนำน้ำออกจากพื้นที่ ต.แม่อ้อ อ.พาน นอกจากนี้ยังกมีการสร้างฝายในพื้นที่ ทำให้ป่าต้นน้ำถูกทำลาย ทำให้นอกจากประชาชนในพื้นที่ไม่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอแล้ว ยังเป็นการบุกรุกป่าต้นน้ำ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจึงได้มารวมตัวกันเพื่อขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายช่วยเหลือ โดยยื่นข้อเรียกร้องให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการให้ยุติการก่อสร้างและออกไปจากพื้นที่ภายในเวลา 10 วัน
ด้านนายธีรพงษ์ เผ่ากา แกนนำชาวบ้านที่มาชุมนุมในครั้งนี้ กล่าวว่า การสร้างโครงการดังกล่าวมีที่มาาที่ไปอย่างไร เพราะไม่ได้มีการทำประชาพิจารณ์สอบถามความเห็นของชาวบ้านในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ทั้งที่สภาพน้ำในพื้นที่ก็ก็เหือดแห้งอยู่แล้ว โดยการกักเก็บน้ำไว้ใช้ก็ควรบริหารจัดการให้มีการใช้อย่างเหมาะสม แต่กลับมีการนำเครื่องจักรเข้าไปดำเนินการ ซึ่งช่วงแรกชาวบ้านคิดว่าเป็นโครงการที่เกี่ยวกับโครงการปิดทองหลังพระของท่าน ว.วชิรเมธี ซึ่งมีสำนักปฏิบัติธรรมอยู่ที่ ต.ห้วยสัก ทำให้โครงการคืบหน้าไปมากแล้วโดยมีการปรับที่ ทำฝาย วางท่อ แต่ปรากฎว่าแท้ที่จริงแล้วไม่เกี่ยวข้องและสงสัยว่าอาจจะเอาชื่อท่านมาแอบอ้างโดยที่ท่านไม่ได้รู้เรื่องด้วยเพื่อดำเนินโครงการ ชาวบ้านจึงออกมาเรียกร้องในครั้งนี้และขอให้ทางจังหวัดดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว
ต่อมา นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เดินทางมารับทราบข้อมูลบัญหาของชาวบ้าน และได้เรียก เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกลุ่มตัวแทนชาวบ้าน ขึ้นไปประชุมที่ห้องประชุม เป็นเวลา 30 นาที มีคำสั่งอนุมัติให้ยุติโครงการสร้างฝายทันที และอนุญาตให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างออก ปรับสภาพให้เหมือนเดิม โดยเห็นว่าการก่อสร้างฝายดังกล่าวไม่ได้ศึกษาผลกระทบข้างเคียงอย่างละเอียด รวมทั้งไม่ให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านก่อน เมื่อชาวบ้านได้รับผลเป็นที่พอใจ จึงได้แยกย้ายกันกล้บบ้านอย่างสงบเรียบร้อย
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.