ขอนแก่นจัดใหญ่ อีสานไมซ์ เอ็กซ์โปร ยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์สู่ตลาดซอฟพาวเวอร์ที่ยั่งยืน พร้อมผนึกพลังร่วมภาครัฐ-เอกชน กลุ่มจังหวัดอีสาน ชูจุดขายการประชุมสัมมนา ที่สร้างรายได้ให้กับพื้นที่ไม่แพ้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 17 ส.ค.2566 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ หรือไคซ์ จ.ขอนแก่น น.ส.ธนียา นัยพินิจ รอง ผวจ.ขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน ISAN MICE EXPO2030 ,MICE Power Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์กรมหาชน) หรือ ทีเส็บ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสาน ได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้น โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสัมมนา และงานบริการ ในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสานเข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง
โดยภายในงานได้จัดให้การลงนามในบันทึกข้อตกลงในการขับเคลื่อนการดำเนินงานจัดกิจกรรมไมซ์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 หน่วยงาน ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น,นครราชสีมา และ จ.อุดรธานี เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการประชุมสัมมนาหรือไมซ์ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาร,การเสวนาว่าด้วยการยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ในภาคอีสานและการจับตู่ธุรกิจการค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายจากส่วนกลางและจากกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน
นางธนียา นัยพินิจ รอง ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่กลุ่มธุรกิจการประชุมสัมมนาทั้งในระดับจังหวัด,ระดับภูมิภาค,ระดับประเทศและระดับนานาชาติ จะมาผนึกพลังร่วมกันโดยการชูจุดขายของความเป็นอีสาน ที่วันนี้การลงนามความร่วมมือร่วมกันของ 3 จังหวัดนำร่องจะเป็นกลไกขับเคล่อนอุตสาหกรรมไมซ์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจากนี้ไปการจัดงานมหกรรมไมซ์ในภาคอีสานจะขยายขอบเขตการจัดงานเป็นงานประจำปีจังหวัดละ 1 ครั้ง นำร่อง 3 จังหวัดก็จะมีการจัดกิจกรรมในลักษณะเช่นนี้ 3 ครั้งในปี 2568-2570 หมุนเวียนกันจัดจังหวัดละปี คู่ขนานกับการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดประชุมและแสดงสินค้าและการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวต่างๆที่จากนี้ไปทุกจังหวัดในภาคอีสานมาร่วมกันสร้างงานสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมไมซ์กันมากยิ่งขึ้น
“ วันนี้มีผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมไมซ์ ใน 3 เมืองคือขอนแก่น,อุดรธานีและนครราชสีมา มาเจรจาซื้อและขาย โดยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของโรงแรม,ห้องประชุม,ห้องพัก,ร้านอาหาร รวมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และสินค้าที่เกี่ยวกับการประชุมสัมนามาสร้างประวัติศาสตร์มาสร้างเวทีและโอกาสให้กับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 80 ราย และมีลูกค้าที่มีศักยภาพจากทั่วประทเศที่เดินทางมาเจรจา 60 ราย ซึ่งจะก่อให้เกิดการเจรจาคู่ธุรกิจมากกว่า 500 คู่ธุรกิจ วงเงินใช้จ่ายกว่า 45 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการสร้างจุดเริ่มต้นนำร่องในการเจรจาซื้อขายด้วยการชู 3 เมืองหลักของภาคอีสานคือขอนแก่น,อุดรธานีและนครราชสีมา มาเป็นแผนงานในระยะที่ 1 ก่อนที่จะขยายโครงข่ายเมืองแห่งการประชุมสัมมนาครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัดในภาคอีสานในระยะต่อไป จะทำให้ภาคอีสานที่เป็นประตูสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่ทุกคนต้องปักหมุดและเดินทางมาประชุมสัมมนาด้วยศักยภาพของความเป็นเมืองไมซ์ ที่ไม่ด้อยไปกว่าภูมิภาคอื่นๆและแสดงถึงอัตลักษณ์ที่สวยงามไม่ด้อยไปกว่าเมืองไมซ์ในภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.