ปลัด ทส.สั่งเลื่อนเวทีรับฟังความเห็นกำหนดเขตพื้นที่ อท.ถ้ำผาไทออกไปไม่มีกำหนด ชาวบ้านข้องใจ เชื่อลักไก่แต่ถูกจับได้

50

ปลัด ทส.สั่งเลื่อนเวทีรับฟังความเห็นกำหนดเขตพื้นที่ อท.ถ้ำผาไทออกไปไม่มีกำหนด หัวหน้า อท.อ้างข้อกังวลของพื้นที่ ชาวบ้านข้องใจไม่เรียบร้อยแต่ทำไมเร่งรีบเปิดเวทีรับฟัง เชื่อลักไก่แต่ถูกจับได้

ความคืบหน้ากรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) ประกาศจะเปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน ในการกำหนดเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) จังหวัดลำปาง เพื่อเตรียมการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยมีพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 448,933.43 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 5 อำเภอ 13 ตำบล ของจังหวัดลำปาง ตั้งแต่วันที่ 5-9 กันยายนนี้

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทางอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทได้มีหนังสือถึงชาวบ้านระบุขอเลื่อนการจัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ออกไป และยังไม่มีกำหนดการว่าจะจัดขึ้นอีกทีเมื่อไร ทั้งนี้นายสมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง หมู่ 5 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท กล่าวว่า สาเหตุที่มีการเลื่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ออกไปทางอุทยานฯให้เหตุผลว่า ข้อมูลยังไม่ชัดเจนมีปัญหาพื้นที่และการประสานงานทำความเข้าใจกับชาวบ้านยังไม่เสร็จเรียบร้อย

“เมื่อยังไม่เสร็จแล้วทำไมอุทยานฯถึงจะมาจัดเวที นี่เป็นข้อคำถามของชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านไม่ออกมาคัดค้านอุทยานก็คงจะลักไก่ประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ไม่ให้ชาวบ้านรับรู้ ข้อปัญหาของอุทยานคือที่ผ่านมาอ้างว่าได้ทำการสำรวจแล้ว สมควรประกาศเป็นเขตอุทยาน แต่ในเวทีเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา อุทยานไม่สามารถตอบคำถามชาวบ้านได้เลย” นายสมชาติ กล่าว

ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง หมู่ 5 ต.บ้านดง กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ชาวบ้านจะทำเรื่องเสนอให้อุทยานทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า รวมถึงมีการจัดทำแผนที่เขตป่าสงวนแห่งชาติใหม่

“ผมคิดว่าทางอุทยานต้องจัดเวทีทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนที่ กันพื้นที่ทำกินของชาวบ้านออกจากเขตประกาศอุทยาน กันแนวเขตให้ชัดเจนแล้วพอใจกันทั้ง 2 ฝ่าย เอาแผนที่มาคุย กระบวนการนี้ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วม” นายสมชาติ กล่าว

ด้าน นายธนากร สิงห์เชื้อ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) กล่าวถึงการเลื่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านทั้ง 5 อำเภอออกไปว่า มีข้อกังวลของทางพื้นที่ที่ยังเป็นห่วงในเรื่องของการประกาศอุทยาน จึงต้องเลื่อนออกไปเพื่อลงพื้นที่ทำความเข้าใจอีกครั้ง โดยยังไม่มีกำหนดว่าจะจัดอีกครั้งเมื่อไหร่
“ข้อมูลเราพร้อม เพียงแต่ว่าเรารับฟังแล้วมีข้อกังวล ข้อห่วงใยซึ่งจะต้องชี้แจงและทำความเข้าใจกันในเบื้องต้นอีกครั้ง” นายธนากร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงความกังวลของชาวบ้านกรณีแผนที่การประกาศเขตอุทยานจะทับซ้อนกับที่ดินทำกิน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ยืนยันว่าได้กันพื้นที่ทำกินของชาวบ้านออกไปแล้วทั้งหมด โดยแผนที่ที่ได้เกิดจากการที่เราลงพื้นที่ร่วมกับชุมชนกำหนดแนวเขตเดินแนวเขตร่วมกัน ไม่มีปัญหาแน่นอนเพราะว่าโดยข้อกฎหมายแล้วอุทยานแห่งชาติที่จะประกาศใหม่ต้องไม่มีพื้นที่ทำกินของชาวบ้านอยู่ข้างใน ซึ่งทางชาวบ้านก็รับทราบและเข้าใจ ได้เดินแนวเขตร่วมกันมาแล้ว

ขณะที่เฟสบุคของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ได้เผยแพร่คำสัมภาษณ์ด้าน ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ระบุว่า ได้มีการรายงานข้อสังเกตจากเวทีการรับฟังความเห็นเมื่อวันที่ 4 กันยายน ณ ที่ว่าการอำเภองาว จ.ลำปาง ไปยัง นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปลัดฯ ได้สั่งการไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้เลื่อนเวทีทั้งหมดออกไป ก่อนนัดผู้เกี่ยวข้องเข้าหารือที่กระทรวงฯ หลังจากนี้

เฟสบุคลของมูลนิธิดังกล่าวยังระบุว่า ในเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ได้มีผู้แทนจากพีมูฟ(ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม)ร่วมสังเกตการณ์ และตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบธรรมในเวที 6 ประเด็น ดังนี้

  1. วัตถุประสงค์ตามเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นมีลักษณะกล่าวโทษชาวบ้าน เช่น อ้างว่ามีการลอบตัดไม้หวงห้าม ขบวนการค้าไม้ส่งออกต่างประเทศ การบุกรุกที่ดิน การเผาป่า ไฟลุกลามจากการทำการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งเป็นการมองชุมชนด้วยอคติ
  2. การประสานงานไม่ทั่วถึง ไม่มีการทำหนังสือเชิญชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เตรียมการประกาศมาเข้าร่วม ขัดกับหลักความโปร่งใสและเป็นธรรม
  3. การเตรียมความพร้อมของเวที ไม่มีการรับรองและอำนวยความสะดวกให้ชาวบ้าน เช่น เก้าอี้ น้ำดื่ม
  4. ในบางชุมชนมีการเข้าไปดำเนินการปักหลักเขตในพื้นที่โดยไม่ประสานงานชุมชน ซึ่งเมื่อสอบถามในเวที เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่ายังเป็นแนวเขตเก่าตามกฎหมายฉบับเก่า (พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504) และต้องมีการปรับปรุงภายหลัง ทำให้ชุมชนไม่อาจยอมรับได้ เพราะหมายความว่าแนวเขตใหม่ยังไม่แล้วเสร็จก่อนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น
  5. ชาวบ้านขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่แสดงแผนที่การเตรียมการประกาศเป็นรายชุมชนเพื่อตรวจสอบว่าแนวเขตทั้งหมด เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถชี้แจงแนวเขตของชุมชนได้ เช่น ชุมชนขอให้จัดพิมพ์แผนที่ส่งให้ชุมชนตรวจสอบ แต่เจ้าหน้าที่กลับตอบว่าแผนที่ยังต้องไปทำต่อ
  6. พื้นที่จะเป็นอุทยานแห่งชาติที่ประกาศหลังพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ หมายความว่าจะไม่สามารถเข้าสู่มาตรา 64 และมาตรา 65 ได้ แต่เจ้าหน้าที่กลับชี้แจงว่าหลังจากนี้จะมีการจัดทำโครงการร่วมกัน เรียกว่า มาตรา 64-65 เฟส 2 ซึ่งชุมชนไม่อาจไว้วางใจและยอมรับได้

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.