มฟล. ขอตั้งศูนย์เฝ้าระวังภัยพิบัติครอบคลุมภาคเหนือตอนบนและอนุภูมิภาคประเทศลุ่มน้ำโขง-ลดความเสี่ยงสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน คาดใช้งบจัดตั้ง 41 ล้านบาท
พร้อมจับมือหน่วยงานเกี่ยวข้องตั้งศูนย์เฝ้าระวังภัยพิบัติ ตั้งวอร์รูมทำงานเฝ้าระวัง-ออกปฏิทินเตือนทุกภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นดินถล่มหรือหมอกควัน ตลอดจนออกคู่มือปฏิบัติตนแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง คาดใช้งบดำเนินการจัดตั้ง 41 ล้านบาท
รศ.ดร. ชาลี นาวานุเคราะห์ หัวหน้าสถาบันการศึกษาและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเผยว่า จากกรณีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง วัดความรุนแรงได้ถึง 6.3 ริกเตอร์ โดยมีข้อมูลความเสียหายจากทางจังหวัดเชียงรายในเบื้องต้น (ณ วันที่ 6 พ.ค.) มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 23 ราย บ้านเรือนเสียหายกว่า 3,500 หลังและวัดวาอารามเสียหาย 10 แห่ง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ได้มีกิจกรรมบริการวิชาการและงานวิจัยเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันและรับมือผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ในภูมิภาค และจากการลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านพบว่าหน่วยงานและประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ในการรับมือภัยทางด้านสิ่งแวดล้อมจำกัด จึงเล็งเห็นความสำคัญในการผลักดันโครงการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังภัยทางด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคภาคเหนือตอนบนและอนุภูมิภาคประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบน ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเพื่อให้เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการที่สามารถสนับสนุนและบูรณาการข้อมูลและความชำนาญการเข้ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับการปกป้องคุณภาพชีวิต สุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อมและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างสมบูรณ์ดียิ่งขึ้นต่อไป
ทั้งนี้โครงการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังดังกล่าวอยู่ในแผนดำเนินงานของมหาวิทยาลัยตามปีงบประมาณ 2558-2562 คาดว่าจะใช้งบประมาณในการจัดตั้ง 41 ล้านบาท เพื่อให้ศูนย์ได้ทำการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมอุตุนิยมวิทยาหรือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศหรือ Gistda แล้วจะทำการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเฝ้าระวังภัยพิบัติและแจ้งเตือน รวมถึงการจัดทำปฏิทินที่แสดงให้เห็นว่าเดือนใดมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติใด ตลอดจนฝึกอบรมประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยในพร้อมสำหรับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้วางแผนป้องกันตนให้ปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
หัวหน้าสถาบันการศึกษาและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มฟล. กล่าวต่อถึงความจำเป็นในการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังภัยพิบัติดังกล่าวขึ้นโดย มฟล. ว่า ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ยังไม่มีศูนย์
สำหรับทำงานในลักษณะดังกล่าว ทั้งที่มีข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณีพบว่ากลุ่มรอยเลื่อนที่มีพลังจำนวน 8 กลุ่มจากทั้งหมด 14 กลุ่มในประเทศไทยอยู่ในภาคเหนือตอนบน ได้แก่ กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา กลุ่มรอยเลื่อนเถิน กลุ่มรอยเลื่อนปัว กลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ และกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา ที่เป็นสาเหตุของแผ่นดินใหญ่ล่าสุด รวมถึงเหตุภัยพิบัติอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและประเทศเพื่อนบ้าน มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ดินโคลนถล่ม ที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ในปี 2549 หรือปัญหาหมอกควัน ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปี ล่าสุดพบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ซึ่งเกินเกณฑ์มาตรฐาน ตลอดจนความเสียหายจากพายุฤดูร้อน เมื่อเมษายนที่ผ่านมา มีบ้านเรือนในจังหวัดเชียงรายได้รับความเสียหากว่า 8,000 หลัง
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.