สมาพันธ์เครือไทยพุทธ จ.ยะลา รวมตัวยื่นหนังสือถึงรมต.ยุติธรรม ทบทวนการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หวั่นไม่ปลอดภัยจากสถานการณ์
วันนี้ 8 ต.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางสมาพันธ์ไทยพุทธ จ.ยะลา กว่า 200 คน นำโดย ร.ต.อ.หิรัญย์เศรษฐ แสงเทียน ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดยะลา/อดีตข้าราชการตำรวจ ร่วมกับเครือข่ายไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดยะลา เครือข่ายไทยพุทธบ้านสันติ 1-2 เครือข่ายไทยพุทธบ้านจุฬาภรณ์ 7 ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา กลุ่มเครือข่ายไทยพุทธตำบลหน้าถ้ำ และ กลุ่มชาวไทยพุทธคนรักในหลวงจังหวัดยะลา ได้ร่วมกันเดินขบวนมายังบริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ท่ามกลางสายฝน เพื่อยื่นหนังสือปิดผนึก ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผ่านนายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ขอให้ทบทวนการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยมีกลุ่มมวลชน ถือป้ายข้อความไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก พ.ร.ก ฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมตัวกันบริเวณด้านหน้า ศาลาจังหวัดยะลา เป็นจำนวนมาก
ร.ต.อ.หิรัญย์เศรษฐ แสงเทียน ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธ จ.ยะลา กล่าวว่า การเดินทางมายื่น หนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผ่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาเพื่อต้องการ ให้ยังคง มี พ.รก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่า สถานการณ์ในขณะนี้จะเบาบางลง แต่เหตุการณ์ก็ยังไม่สงบ เพื่อคนไทยพุทธที่อยู่ในพื้นที่ เพราะที่ผ่าน คนไทยพุทธ คือเหยื่อของเหตุการณ์ที่ถูกกระทำจากผู้ก่อเหตุรุนแรง การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้าเป็นคนดีไม่เดือดร้อน คนทีเดือดร้อน คือ ผู้ก่อเหตุที่กระทำความรุนแรง เครือข่ายไทยพุทธ จึงอยากให้คง พ.ร.ก ฉบับนี้ไว้ก่อน เพราะเหตุรายวันยังเกิดขึ้นตลอดเวลา สำหรับที่มีบางกลุ่ม เสนอให้ยกเลิกนั้น ก็ยากให้มาถามทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ อย่างชาวไทยพุทธ ที่ทุกวันนี้ รู้สึกเหมือนเป็นคนกลุ่มน้อยในพื้นที่อยู่แล้ว ว่าเขาอยากให้ยกเลิก หรือไม่ยกเลิก ที่มารวมตัวเรียกร้องในวันนี้ อยากให้เห็นว่าเรายังต้องการความปลอดภัยในพื้นที่ และมี พ.ร.ก.ฉบับนี้ที่สามารถใช้ควบคุมสถานการณ์ สร้างความปลอดภัยให้ประชาชนได้
ทั้งนี้ ตนเอง เป็นข้าราชการตำรวจที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาเคยประสบเหตุการณ์ปะทะมาแล้ว ทราบในสถานการณ์ดี ถึงแม้จะเกษียณมาแล้ว แต่ก็ยังทำหน้าที่ขับเคลื่อนเพื่อให้คนไทยพุทธอยู่ในพื้นที่ได้ เพราะจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่ไม่ว่าเชื้อชาติใด ศาสนาไหน ก็สามารถอยู่ร่วมกัน
สำหรับ เนื้อหาในหนังสือ ได้ขอให้มีการทบทวน พิจารณา มาตรการปกป้อง คุ้มครองชาวพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากสภาเครือข่ายปัญญาชนจังหวัดชายแดนภาดใต้ หรือ INC ได้ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 6 ต.ค.66 ขอให้รัฐบาลยุติการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) พ.ศ.2548 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกลุ่มชาวไทยพุทธ เห็นว่าการเรียกร้องของสภาเครือข่ายฯ ดังกล่าว เป็นเพียงการมองแต่เรื่องการบั่นทอนเสรีภาพ และไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนเท่านั้น โดย สภาเครือข่ายฯ ไม่เคยสอบถามชาวไทยพุทธที่เป็นคนกลุ่มเล็กๆ ในพื้นที่ เลยว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน นอกจากนี้ กลุ่มชาวไทยพุทธ ไม่เห็น ว่าการยกเลิก พ.ร.ก.ดังกล่าว จะช่วยให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้นอย่างไร เพราะยังคงมีการข่มขู่ไม่ให้ชาวไทยพุทธเข้าบางพื้นที่ และยังมีการลอบทำร้ายประชาชนชาวพุทธมากขึ้นในระยะ หลายเดือนที่ผ่านมา อีกทั้งชางไทยพุทธ ถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ละเลย เพิกเฉยต่อโศกนาฏกรรมที่ชาวพุทธ ได้รับจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงตลอดมา
ดังนั้น การเรียกร้องของสภาเครือข่ายฯ จึงถือเป็นการปิดบังเสียงจากกลุ่มเล็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน และอยากตั้งคำถามว่า หากเกิดเหตุชาวไทยพุทธถูกลอบทำร้ายจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง สวนยาง สวนผลไม้ถูกฟัน ทำลาย สภาเครือข่ายฯ จะออกมารับผิดชอบหรือไม่ หรือ จะมีกลุ่มบุคคลใดในพื้นที่จะยืดอก ยกมือเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว
สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี บีบคั้นให้ชาวไทยพุทธ ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนของตนออกนอกพื้นที่มาโดยตลอด เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของตนและ ครอบครัว จนสัดส่วนการเหลืออยู่ของชาวไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงเรื่อยๆ ครอบครัวชาวพุทธที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ ยังมีความหวังถึงความปลอดภัยด้วยกฎหมายพิเศษที่ทางการ นำมาใช้ในพื้นที่ การเรียกร้องขอยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของสภาเครือข่ายฯ จึงเสมือนการละเลย ไม่สนใจต่อความปลอดภัยของชาวไทยพุทธ
อะหมัด/มาวันดี/ยะลา
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.