รมว.อว.ตรวจงานวิจัยปูทะเล-เศรษฐกิจวัฒนธรรม-แก้จน ม.อ.ปัตตานี ย้ำมหาวิทยาลัยทำวิจัย-พัฒนานวัตกรรมเพื่อคนพื้นที่
รมว.อว.กำชับมหาวิทยาลัยทำงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมต้องตอบโจทย์พื้นที่ บพท.เดินหน้างานวิจัยพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ ส่วน ม.อ.ปัตตานีถักทอห่วงโซ่ปูทะเลครบวงจร-สร้างเศรษฐกิจฐานพหุวัฒนธรรม-กวาดล้างความยากจน
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงนโยบายของกระทรวง อว. ในการหนุนเสริมมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ในโอกาสเดินทางไปตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 โดยมีนางพาติเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผศ.ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี และรศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้การต้อนรับ ระบุว่า กระทรวง อว. มุ่งมั่นส่งเสริมและสนับสนุนมหาวิทยาลัยและหน่วยงาน อว. ในการทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่มีคุณค่า สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจ ประชาชนเข้าถึง และได้รับประโยชน์จากองค์ความรู้ และนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้นโยบาย “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ”
ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รมว.อว. มอบหมายให้ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว. ทำหน้าที่กำกับติดตามและให้ข้อเสนอแนะการทำงานของสถาบันการศึกษา เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ที่มีบริบทเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาควิชาการ ภาคราชการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน
โอกาสนี้ ผศ.ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดี วิทยาเขตปัตตานีรายงานผลลัพธ์ของงานวิจัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บพท. กระทรวง อว. ได้แก่ โครงการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเล ในพื้นที่ภาคใต้ สู่การเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศ ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การตลาด และการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จ.ปัตตานี และโครงการวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี ล้วนเป็นงานวิจัยที่ส่งผลดีต่อการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชากรในปัตตานีให้ดีขึ้น และมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจฐานรากบนฐานทรัพยากรในพื้นที่
รศ.ดร.ซุกรี หะยีสะมะแอ หัวหน้าโครงการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเล ในพื้นที่ภาคใต้ สู่การเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศฯ กล่าวว่า องค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงปูทะเลครบวงจร มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และนักวิจัยร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ห่วงโซ่การเพาะเลี้ยงปูทะเลและห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนห่วงโซ่คุณค่าของปูทะเลไทย ขยายตัวครอบคลุมพื้นที่เพิ่มขึ้น และสามารถยกระดับขึ้นเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าแม่ปูจากต่างประเทศ
ด้าน ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว หัวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จ.ปัตตานี และโครงการวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี กล่าวว่า ผลสัมฤทธิ์ของโครงการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จ.ปัตตานี เป็นการต่อยอดองค์ความรู้มาจากแผนงานแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำของ บพท. ที่ไม่จำกัดนิยามความยากจนไว้เฉพาะมิติทางเศรษฐกิจหรือรายได้ หากครอบคลุมทุนในการดำรงชีวิตตามหลักสากล ซึ่งมี 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนเศรษฐกิจ ทุนกายภาพ ทุนธรรมชาติและทุนสังคม
“เราค้นพบว่าคนจนในปัตตานี ขัดสนทุนทั้ง 5 ด้าน จำเป็นต้องแสวงหาหนทางให้เพิ่มพูนขึ้น โดยมหาวิทยาลัยมีบทบาทเป็นแกนกลางทำหน้าที่ศูนย์ประสานงานการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการจังหวัดปัตตานี พัฒนาระบบค้นหา สอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจน พัฒนากลไกความร่วมมือ ทั้งในระดับจังหวัดและพื้นที่ พัฒนาระบบปฏิบัติการโมเดลแก้จนที่เหมาะสมตามศักยภาพของคนจนและชุมชน บูรณาการความร่วมมือกับภาคีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสร้างพื้นที่กลางในการทำงานร่วมกัน”
ผศ.ดร.อรุณีวรรณ ชี้แจงว่า ภายใต้กระบวนการแก้ปัญหาความยากจน ที่ใช้ฐานข้อมูลความรู้จากงานวิจัยเป็นเข็มทิศนำทาง ทำให้สถานการณ์ความยากจนในจังหวัดปัตตานี ทุเลาลงไปได้มาก คนจนจำนวนมากได้รับการพัฒนาทักษะความรู้ ทักษะอาชีพกระทั่งสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ขณะที่คนจนบางส่วนที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้จะได้รับการส่งต่อเข้าสู่การดูแลของระบบสวัสดิการของรัฐ
สำหรับโครงการวิจัยวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี ผศ.ดร.อรุณีวรรณ กล่าวว่า มุ่งใช้กระบวนการความรู้จากงานวิจัยไปเสริมพลังของทุนทางภูมิประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนเอกลักษณ์สังคมพหุวัฒนธรรมเดิมของปัตตานี ให้มีความแข็งแรง และนำไปสู่การต่อยอดให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม เพิ่มมูลค่าแก่สินค้าและบริการทางวัฒนธรรม เป็นรากฐานสร้างความมั่นคงยั่งยืนแก่เศรษฐกิจฐานรากในชุมชน
รศ.ดร.ปุ่น รองผู้อำนวยการ บพท.กล่าวว่า บพท.ร่วมพัฒนาพื้นที่กับมหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด นำแนวนโยบายของรมว.อว.ไปประยุกต์สู่การปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมให้มีคุณค่า สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ และสร้างอนาคตที่ดีให้กับทุกคน โดย บพท.จะให้ความสำคัญกับการจัดการวิจัยพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Research Area-SRA ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ด้วยกระบวนการหลอมรวมองค์ความรู้หลากมิติในพื้นที่ พัฒนาไปเป็นชุดความรู้สู่การใช้ประโยชน์ ภายใต้บริบทของแต่ละพื้นที่
ปัตตานี เป็น 1 ใน 7 จังหวัดต้นแบบพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคม ที่ขยายผลจากการบูรณาการระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ (PPPConnext) จนสามารถค้นพบครัวเรือนยากจนในจังหวัดปัตตานี จำนวน 19,005 ครัวเรือน หรือ 109,926 คน ด้วยระบบชี้เป้าที่แม่นยำ ระบบส่งต่อความช่วยเหลือ ทำให้คนจนเข้าถึงโอกาส การพัฒนานวัตกรรมแก้จน สร้างธุรกิจและวิสาหกิจชุมชน และการขยายผลบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย นำไปสู่กลไกเชื่อมโยงแผนพัฒนาระดับพื้นที่ท้องถิ่น แผนพัฒนาจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนอย่างตรงเป้า ลดความเหลื่อมล้ำ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ทำให้คนปัตตานีหลุดพ้นจากความยากจนยกทั้งจังหวัดในปี 2570
แนวทางการทำงานขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ใน 7 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ ภาคเหนือ – ลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ – กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด และภาคใต้ – พัทลุง ปัตตานี ยะลา จะช่วยปลดแอกคนจนและครัวเรือนยากจนที่ค้นพบรวม 88,988 ครัวเรือน หรือ 385,366 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566) เป็นตัวอย่างของจังหวัดนำร่องในการขยายผลงานวิจัยระดับพื้นที่ไปสู่รูปธรรมของการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและขจัดความยากจนได้อย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบการทำงานในช่วงระยะเวลา 5 ปี (2566-2570) และเกิดมหาวิทยาแก้จนในพื้นที่ที่รู้ลึกรู้จริงในแก้ไขปีญหาพื้นที่
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.