สมช.เสนอเร่งแก้ปัญหาเขื่อนแม่น้ำโขง แนะกำหนดหลักการใช้น้ำเท่าเทียม-สมเหตุสมผล-ผลักดันแนวปฎิบัติบริหารเขื่อน

102
สมช.เสนอเร่งแก้ปัญหาเขื่อนแม่น้ำโขง เผยส่งผลกระทบต่อเส้นเขตแดน-การเมืองระหว่างประเทศ แนะกำหนดหลักการใช้น้ำเท่าเทียม-สมเหตุสมผล-ผลักดันแนวปฎิบัติบริหารเขื่อน กลุ่มรักษ์เชียงของพายเรือคายัคจากสามเหลี่ยมทองคำ-ผาได สำรวจนิเวศน้ำโขงพบแหล่งวางไข่นก-ร่องรอยนากหวั่นสูญหากสร้างเขื่อนปากแบง

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ได้จัดการประชุมเชิงสัมมนาทางวิชาการของศูนย์อาเซียนศึกษา โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นผู้จากหลายหน่วยงาน รวมทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมกว่า 40 คน ที่น่าสนใจคือระหว่างการเสวนาในหัวข้อ “การบริหารจัดการน้ำของจีนในลุ่มแม่น้ำโขง ผลกระทบต่อความมั่นคงของอาเซียนและไทย” ซึ่งผู้ร่วมเสวนาโดยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่ชาติ (สมช.) สำนักนโยบายและแผนกลาโหม กระทรวงกลาโหม ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers)

ผู้แทนสมช.ได้นำเสนอในประเด็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงว่า ด้านสิ่งแวดล้อม มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องด้วยการไหลของน้ำและการขึ้นลงของน้ำในแม่น้ำโขงไม่เป็นไปตามธรรมชาติทำให้ปลาและนกไม่สามารถวางไข่ได้ตามฤดูกาลส่งผลกระทบต่อประชาชน ด้านผลกระทบต่อบูรณภาพแห่งดินแดน การสร้างเขื่อนไฟฟ้าจะส่งผลให้เกิดตะกอน ดิน และส่งผลต่อเส้นทางไหลของน้ำ เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่องน้ำ สันดอน เนินทรายในแม่น้ำโขงซึ่งอาจกระทบต่อเส้นเขตแดนตามลำน้ำโขงระหว่างไทย-ลาว ที่ยังไม่มีความชัดเจนในการปักปันเขตแดน และผลกระทบด้านการเมืองระหว่างประเทศ ด้านอาชญากรรม เกาะ ดอน ในหลายพื้นที่กลายเป็นแหล่งพักพิงและเป็นเส้นทางลักลอบลำเลียงยาเสพติดและลักลอบเข้าเมือง

ทั้งนี้สมช. มีข้อเสนอแนะให้มีการหารือด้านการจัดการน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อเปิดโอกาสให้มีการกำหนดหลักการใช้แม่น้ำโขงอย่างเท่าเทียมและสมเหตุสมผล โดยไทยสามารถใช้กลไกอนุภูมิภาคและอาเซียนที่มีอยู่ เพื่อหารือ ประเด็นแม่น้ำโขง รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและการปกป้องสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างการพัฒนาที่กว้างขึ้นระหว่างประเทศสมาชิก และควรผลักดันให้เกิดการจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับการบริหารจัดการเขื่อน (Guidance for dam operations) ในแม่น้ำโขงสายหลักที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมปริมาณการไหลของน้ำ เพื่อรักษาปริมาณการไหลของแม่น้ำโขงในช่วงเวลาต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่เป็นที่ยอมรับได้

ด้านผู้แทนหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง (นรข.) ได้นำเสนอผลการศึกษาด้านปริมาณการไหลและระดับน้ำของแม่น้ำโขง โดยระบุว่าช่วงสถานีเชียงแสนมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ โดยมีสาเหตุหลักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำและการไหลของน้ำโขงตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ประเทศไทย โดยมีข้อเสนอ 1. กำหนดนโยบายในการแก้ปัญหาผลกระทบจากเขื่อน 2. การไม่สร้างเขื่อนเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ 3. ศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงและปัญหาผลกระทบของลุ่มน้ำโขง 4.การแจ้งข้อมูลการระบายน้ำจากเขื่อนล่วงหน้า 5. การกำหนดสิทธิอธิปไตยในลำน้ำโขง 6. การยึดมั่นในข้อตกลงที่กำหนดไว้แล้ว

นอกจากนี้ ก่อนหน้าจัดเวทีเสวนาได้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “การบริหารจัดการน้ำของจีนในลุ่มแม่น้ำโขง สถานการณ์ แนวโน้ม และความท้าทายในอนาคต” โดยนายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้กล่าวว่า มีโครงการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มน้ำโขงตอนบนและตอนล่าง จำนวน 22 โครงการ แบ่งเป็นกลุ่ม 1 แม่น้ำล้างช้างตอนล่าง (ในเขตจีน) เป็นเขื่อนประเภทกักเก็บน้ำ กลุ่ม 2 แม่น้ำโขงตอนล่างส่วนบน (ในเขตลาว) เป็นเขื่อนประเภทน้ำไหลผ่าน และกลุ่ม 3 แม่น้ำโขงตอนล่างส่วนล่าง (พรมแดนไทยลาว และกัมพูชา) เป็นเขื่อนประเภทน้ำไหลผ่านเช่นเดียวกัน เขื่อนที่ก่อสร้างเสร็จแล้วได้แก่ เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง ส่วนเขื่อนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ ปากแบง หลวงพระบาง ปากลาย และโครงการเขื่อนที่อยู่ในกระบวนการ PNPCA คือสานะคาม ส่วนโครงการเขื่อนที่อยู่ในแผนการก่อสร้างในอนาคต ได้แก่เขื่อนปากชม บ้านกุ่ม ลาดเสือ/ภูงอย สตึงเตรง และสามบ่อ (ซำบอ)

ผู้แทน สทนช.กล่าวว่า การรักษาผลประโยชน์ของไทยในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในฐานะรัฐริมฝั่งโขง (riparian state) ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์และผลกระทบโดยตรง 1. ด้านน้ำ เพื่อการบริโภคภายในประเทศ เพื่อเกษตรกรรมริมฝั่งและการประมงในแม่น้ำ 2. ด้านพลังงาน แหล่งพลังงานสะอาด/พลังงานทางเลือก นโยบายเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของอาเซียนภายใต้แผนพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ พศ.2561-2580 3. ผลกระทบข้ามพรมแดน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจสังคมและคุณภาพชีวิต 4. การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการตามกรอบ MRC-LMC การติดตามสถานการณ์น้ำ 5. ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดน การแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ

ทางด้านกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย นำโดย “ครูตี๋” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ได้จัดกิจกรรมพายเรือคายัคสำรวจแม่น้ำโขง ระหว่างวันที่ 5-7 มกราคม โดยเริ่มจากปากแม่น้ำกก อ.เชียงแสน ถึงผาได อ.เวียงแก่น ซึ่งจากการนสำรวจในวันแรกพบว่าเกาะดอนต่างๆ มีสภาพเปลี่ยนไป โดยเกาะดอนบางแห่งถูกใช้งานโดยชาวบ้านจากเพื่อนบ้าน มีการเลี้ยงสัตว์ และทำการเกษตร มีการปรับปรุงตลิ่งริมแม่น้ำโขง รวมทั้งปากห้วยต่างๆ ซึ่งการพายเรือทำให้สามารถเข้าถึงระบบนิเวศอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ที่หาดร้องฟาน หนึ่งในแก่งคอนผีหลง ซึ่งเป็นกลุ่มแก่งสำคัญบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ยังคงมีสภาพตามธรรมชาติ พบร่องรอยของสัตว์หลายชนิด เช่น นาก นก โดยเกาะแก่งเหล่านี้เป็นแหล่งอาศัยและวางไข่ที่สำคัญของนกอพยพ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโดยเฉพาะการสร้างเขื่อนปากแบง จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้โดยกลุ่มรักษ์เชียงของจะพายเรือสำรวจแม่น้ำโขงลงไปถึงสุดชายแดนไทย ที่แก่งผาได อ.เวียงแก่น

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.