วันที่ 25 ม.ค 67 ช่วงเช้าตรู่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศประเพณีเดือน 4 เป็งล้านนา ตามวัดป่าอารามต่างๆ ได้มีพุทธศาสนิกชน ผู้เฒ่าผู้แก่ พาบุตรหลาน นำหลัว(ฟืน) ข้าวหลาม และข้าวเปลือกตลอดจนอาหารคาวหวานเข้าวัดทำบุญเพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนบุญกุศล ให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วและเพื่อความเป็นสิริมงคล ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาล จนถึงปัจจุบันของชาวล้านนา
เช่นเดียวที่วัดศรีบุญชุม ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ และวัดแม่ใส ต.แม่ใส อ.เมือง แล้ววัดอื่นๆทั่วจังหวัดพะเยา ได้จัดประเพณีเดือนสี่เป็งขึ้นเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมและประเพณี การนำเอาฟืน(หลัว)มาเผา เพื่อให้พระพุทธเจ้าได้ผิงไฟ จัดขึ้นในช่วงเดือน 4 ของทางภาคเหนือ หรือประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม ในวันขึ้น 15 ค่ำของเดือน เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น ชาวล้านนามีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปในวิหารก็รู้สึกถึงความหนาวเย็นเช่นเดียวกับคนเรา จึงร่วมกันหาไม้ฟืนมาจุดเผาไฟผิงให้เกิดความอบอุ่น จากการผิงไฟนอกจากจะให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายแล้ว ยังขับไล่ความชื้นในอากาศที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยอีกด้วย และเผาข้าวหลาม -ตานข้าวเปลือกใหม่ ถวายวัดด้วยดังกล่าว
คำว่า “หลัว” เป็นภาษาล้านนา หมายถึง ฟืน ส่วนคำว่า “หิง” หมายถึง การผิงไฟ และคำว่า “พระเจ้า” หมายถึง องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้ามีการปฏิบัติสืบเนื่องกันมาอย่างแพร่หลายทั่วไปในล้านนา ซึ่ง ประเพณีนี้มักจะทำควบคู่ไปกับประเพณี ทานข้าวใหม่ ใส่บาตร เพื่อบูชาแม่โพสพ และทานข้าวใหม่ให้แก่วัด บางแห่งก็เรียกรวมว่าเป็นประเพณี ทานข้าวใหม่-หิงไฟพระเจ้า -เผาข้าวหลาม
ปัณณวิชญ์ อยู่ดี จ.พะเยา
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.