นักธุรกิจขอนแก่นร่วมแสดงความคิดเห็นตั้งท่าเรือบกขอนแก่นเชิงพาณิชย์ หลังการท่าเรือแห่งประเทศไทยมอบ มทร.อีสาน ทำการศึกษาและวิจัยทั้งระบบยืนยันขอนแก่นเหมาะสมทำท่าเรือบกที่สุดในภาคอีสาน
เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 2 ก.พ.2567 นายศิริวัฒน์ พินิจพาณิชย์ รอง ผวจ.ขอนแก่น เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นประกอบการทดสอบความสนใจนักลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ให้เกิดขึ้นในเชิงพาณิชย์ ซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และสถาบันชุณหะวันเพื่อการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน ได้กำหนดจัดการประชุมขึ้นโดยมีนักวิชาการ และนักธุรกิจในพื้นที่ จ.ขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมการประชุมจำนวนมาก
นายอภิเสต พงษ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท. สายบริหารสินทรัพย์และการพัฒนาธุรกิจ กล่าวว่า การศึกษาในเรื่องของการพัฒนาท่าเรือบกในพื้นที่ขอนแก่น ขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างมาก ซึ่งขณะนี้เข้าสู่การแลกเปลี่ยนและรับฟังข้อเสนอแนะในกลุ่มภาคธุรกิจและเชิงพาณิชย์ โดยจะทำการประชุมร่วมกันทั้งที่ขอนแก่นและกรุงเทพฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลและผลการวิจัยที่ชัดเจนเสนอต่อที่ประขุมการท่าเรือแห่งประเทศไทยและเสนอต่อกระทรวงคมนาคมตามขั้นตอน ซึ่งยอมรับว่าขอนแก่น นั้นมีความเหมาะสมอย่างมากในการก่อตั้ง โดยเฉพาะที่สถานีรถไฟโนนพะยอมที่จะเชื่อมต่อกับการขนส่งระบบรางได้อย่างครอบคลุม ซึ่งการดำเนินงานนั้นจะต้องประสานงานร่วมการรถไฟแห่งประเทศไทยในการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งหมด
“ ปัจจุบันท่าเริอแหลมฉบังเป็นประตูการค้าที่สำคัญของไทยมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ถึง 7.7 ล้านตู้ต่อปี และในปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังประสบปัญหาความแออัดในการขนส่งสินค้า ทำให้เสียเวลาในการขนส่ง ผู้ให้บริการขนส่งสินค้ามีการเรียกเก็บค่าหัวรถลากเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาท่าเรือบกในประเทศไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือ ลดปัญหาความแออัดจากการขนส่งบริเวณท่าเรือ พร้อมทั้งรองรับการเติบโตด้านการขนส่งสินค้าที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการโดยเฉพาะ ซึ่งผลการศึกษาด้านเกณฑ์การคัดเลือกจังหวัดพบว่าขอนแก่นมีความเหมาะสมในการจัดตั้งท่าเรือบกตาหลักเกณฑ์ทั้งหมดในพื้นที่ ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง ซึ่งเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟโนนพะยอม ได้ทันที”
นายอภิเสต กล่าวต่ออีกว่า วันนี้เป็นการรับฟังภาคธุรกิจเอกชน ตามรูปแบบที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยนำเสนอ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนและเด่นชัดว่า จะเป็นไปในรูปแบบใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งการพัฒนาพื้นที่ การสร้างมูลค่าที่เกิดจากการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน รวมไปถึงระบบการเชื่อมต่อการขนส่งทางบก และทางราง ทั้งระบบรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามในการศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาท่าเรือบกขอนแก่น โดยคณะทำงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้นั้นจะศึกษาความเป็นไปได้ในรูปแบบการลง นที่เหมาะสมกับ กทท. ทั้งในส่วนของรูปแบบตาม พรบ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP,รูปแบบการลงทุนร่วมกันบริษัทเอกชน หรือ Joint Venture,รูปแบบใช้เงินทุนของ กทท. หรือรูปแบอื่นๆที่เหมาะสม ซึ่งทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.ปีนี้
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.