รัฐบาลเดินหน้าต่อ โครงการถมทะเล สร้างเมืองใหม่

40

รัฐบาลเดินหน้าต่อ โครงการถมทะเล สร้างเมืองใหม่

ขณะที่กรมที่ดิน งัดโมเดลศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะเป็นต้นแบบ เล็งเริ่มต้นหัวหิน อ้อมอ่าวไทยไปพัทยา

จากกรณีที่รัฐบาลได้ประกาศผ่านรัฐสภา ให้โครงการถมทะเล สร้างเมืองใหม่ เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำในสมัยรัฐบาลนี้ โดยทุ่มงบประมาณมูลค่ากว่า  1.8 ล้านล้านบาทในการดำเนินการ เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจ ที่อยู่อาศัย รีสอร์ต มารีน่า และรถไฟความเร็วสูง

รวมไปถึงเป็นแนวกันน้ำท่วมและ แก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อลดการกัดเซาะให้ลดน้อยลง ทั้งนี้แม้โครงการจะถูกคัดค้านอย่างหนัก แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาลเพื่อไทย ก็ยังพยายามพลักดันให้นโยบายดังกล่าวเดินหน้าอยู่นั้น

นายบุญเชิด คิดเห็น อธิบดีกรมที่ดิน ได้ออกมากล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการว่า ขณะนี้ขั้นตอนโครงการอยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่เกี่ยวกับ เรื่องดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นร่างพระราชบัญญัติได้ผ่านการพิจารณาของคณะทำงานยกร่างฯ แล้ว เตรียมจะเสนอกระทรวงมหาดไทย และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วๆ นี้

โดยการยกร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่นั้น ได้มีการเสนอให้จัดตั้งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle : SPV) ใช้ชื่อว่า บริษัท บริหารจัดการและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย จำกัด เป็นผู้ดำเนินงานในการจัดการโครงการ ให้มีรูปแบบเหมือนบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ที่คอยผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจและการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ ทั้งแปรสภาพแหล่งน้ำ และถมทะเล

ส่วนแนวทางในการดำเนินการนั้น ให้นำการก่อสร้างศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติถนนแจ้งวัฒนะเป็นต้นแบบ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินการและการบริหารจัดการทางด้านการเงินและการ ระดมทุน โดยจะแบ่งการพัฒนาเป็นเฟส ๆ ตามความเหมาะสม

สำหรับพื้นที่ที่จะถมทะเลนั้น มีหลายตัวเลือก อาทิ สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี และชลบุรี เบื้องต้นได้คัดเลือกพื้นที่เป็น 2 แนวทางคือ
1.ก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำบริเวณริมฝั่งทะเล จุดเริ่มต้นโครงการอยู่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แล้วอ้อมทะเลอ่าวไทยไปเมืองพัทยา
2.ก่อสร้างลึกเข้าไปในทะเล ห่างจากชายฝั่งทะเล 15-16 กิโลเมตร ตามแนวสันทราย จากชายฝั่งทะเลในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ไปถึงฝั่งทะเลด้าน จ.ชลบุรี รูปแบบจะเป็นถนนขนาด 4-6 เลน ตลอดทางจะมีประตูน้ำขนาดใหญ่สำหรับระบายน้ำทะเลเข้าออก และจะมีการถมทะเลพัฒนาเชิงพาณิชย์

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการดำเนินการโครงการก็ต้องขึ้นอยู่กับหลักวิชาการ และให้ความสำคัญกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมและคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.