สถานทูตสหรัฐ ปฏิบัติการค้นหานักบินรบ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามสโลแกนเราจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง เพื่อนำนักรบกลับสู่มาตุภูมิ

360

วันที่ 15 ก.พ.67 โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค  เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ลิสา บูเจนนาส กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา เชียงใหม่ นายชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พลอากาศเอก ศักดิ์พินิต พร้อมเทพ อดีตเจ้ากรมสารบรรณทหารอากาศ อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ พร้อมคณะจากสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย ร่วมลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจค้นหาทหารที่สูญหายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณพื้นที่ดอยฝรั่ง เขตบ้านทรายใต้ อ.เมืองลำปาง ที่สืบทราบว่าเป็นจุดที่เครื่องบินตกสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2487

ซึ่งเป็นสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ. 2484-2488) ซึ่งมีการวางกำลังทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรจึงส่งหน่วยทางอากาศเข้ามาปฏิบัติการทางภาคเหนือของไทย เพื่อยับยั้งและขัดขวางการส่งกำลังบำรุงของญี่ปุ่นที่มีฐานในไทย เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2487 เครื่องบินขับไล่แบบ P-51 และ P-38 ของสหรัฐฯ 16 ลำ ออกเดินทางจากฐานบินในมลฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีน เพื่อค้นหาและโจมตีหน่วยปฏิบัติการสนับสนุนของญี่ปุ่นทางเหนือของไทย หน่วยของสหรัฐฯ มุ่งหน้าสู่จังหวัดลำปางและถูกสกัดกั้นจากเครื่องบินขับไล่แบบ Ki-27 หรือ “โอตะ” ของไทย จำนวน 5 ลำ ซึ่งบินออกจากสนามบินลำปาง จึงเกิดการต่อสู้ระยะประชิดในอากาศระหว่างเครื่องบินของไทย 5 ลำ และของสหรัฐฯ 16 ลำ ซึ่งในเวลาต่อมาเรียกว่า “ยุทธเวหา 5 ต่อ 16 เหนือนครลำปาง”

ในการรบครั้งนั้น ส่งผลให้เครื่องบินของไทยถูกยิงตก 4 ลำ เสียหายอย่างหนัก 1 ลำ นักบินเสียชีวิต 1 คน สำหรับฝ่ายสหรัฐฯ เครื่องบิน P-38 เสียหายอย่างหนัก 1 ลำ เสียหายเล็กน้อย 1 ลำ และเครื่องบิน P-51 ลำหนึ่งถูกยิงตกในเทือกเขาจังหวัดลำปาง นักบินคนหนึ่งสูญหายและถูกสันนิษฐานว่าเสียชีวิต นักบินผู้นี้เป็นหนึ่งในทหารอเมริกันหลายหมื่นคนที่ยังคงสูญหายระหว่างปฏิบัติหน้าที่
ตลอดเวลา 80 ปีที่ผ่านมา สำนักงานค้นหาเชลยศึกและผู้สูญหายของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (Defense POW/MIA Accounting Command: DPAA) ทุ่มเทค้นหาผู้สูญหายเหล่านี้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และด้วยความร่วมมือระหว่าง DPAA กับ พล.อ.อ.ศักดิ์พินิต พร้อมเทพ (เกษียณอายุราชการ) แห่งกองทัพอากาศไทย, น.ต.แดเนียล แจคสัน (เกษียณอายุราชการ) และนายริชาร์ด แฮคเคนสัน ผู้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์สงครามชาวไทยและสหรัฐฯ รวมทั้งหน่วยงานราชการของไทยและประชาชนชาวลำปาง ในที่สุดก็สามารถค้นพบจุดตกของเครื่องบิน P-51 ดังกล่าวข้างต้น ตั้งแต่ปลายปี 2561 เพื่อเป็นการค้นหาร่างนักบินผู้สูญหาย เพื่อนำกลับบ้านเกิด

พล.อ.อ.ศักดิ์พินิต พร้อมเทพ อดีตเจ้ากรมสารบรรณทหารอากาศ อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ กล่าวว่า การค้นหานักบินผู้สูญหายในครั้งนี้ ไม่คิดว่างานอดิเรกจะกลายเป็นเรื่องสำคัญระหว่างประเทศ และทางสถานทูตสหรัฐฯ ได้ให้ความสนใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้มีการค้นหานักบินผู้สูญหายระหว่างการรบในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อทำให้นักบินคนดังกล่าวได้กลับสู่บ้านเกิดอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจที่หลายๆฝ่ายให้ความร่วมมือในการค้นหาในครั้งนี้

นาย โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค  เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย กล่าวว่า ทางสถานทูตสหรัฐได้ให้ความสำคัญกับการค้นหาในครั้งนี้ ซึ่งเป็นผู้สูญหายในระหว่างครับสงครามที่เกิดขึ้น ซึ่ง “เราจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” หลังจากจบสงครามทางสหรัฐได้ติดตามและค้นหาผู้สูญหายในการรบแต่ละครั้ง เพื่อส่งมอบให้กับญาติของผู้เสียชีวิต
” สำหรับประเทศไทยถือว่าเป็น ประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่เป็นพันธมิตรกับทางสหรัฐอเมริกา และให้ความร่วมมือกับเราในทุกด้าน ในการค้นหาครั้งนี้ เราได้รับความร่วมมือ จากทางผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่และค้นหา ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่อย่างไรก็ตามหลังจากที่เจอชิ้นส่วน ที่คาดว่าจะเป็นเศษวัสดุจาก เครื่องบินและของนักบินจะทำการส่งไปยังห้องวิจัยที่ฮาวายเพื่อพิสูจน์ทราบ และนำมาวิเคราะห์ ผลอีกครั้ง” ทูตสหรัฐประจำประเทศไทยกล่าว
ด้าน ลิสา บูเจนนาส กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา เชียงใหม่ กล่าวว่า ทางกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา เชียงใหม่ ได้ให้การสนับสนุนเกี่ยวกับการค้นหาในครั้งนี้เนื่องจาก ทางสถานีกงสุลครอบคลุมพื้นที่การทำงานในภาคเหนือซึ่งมีความสามารถในการช่วยเหลือในด้าน การขนส่ง บุคลากร รายการประสานงานเนื่องจากเป็นพื้นที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อให้ปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นไปได้อย่างราบรื่น
โดยภารกิจในครั้งนี้ สำนักงานค้นหาเชลยศึกและผู้สูญหายของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (DPAA)สำนักงานค้นหาเชลยศึกและผู้สูญหายของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (Defense POW/MIA Accounting Agency: DPAA) มุ่งมั่นที่จะทำรายการบัญชีทหารอเมริกันที่สูญหายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในสงครามในอดีต (สงครามโลกครั้งที่สองจนถึงปัจจุบัน) โดยดำเนินการค้นคว้า ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ขุดค้น ตลอดจนวิเคราะห์ด้วยวิธีการอันทันสมัยโดยละเอียด ณ ห้องปฏิบัติการของ DPAA ในรัฐฮาวาย
ในประเทศไทย DPAA กำลังดำเนินการเพื่อค้นหาและระบุตัวทหารที่สูญหายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในสงครามโลกครั้งที่สอง รวมถึงทหารจากสงครามเวียดนามที่อาจจะประสบเหตุเครื่องบินตกในประเทศไทยด้วย ซึ่งภารกิจขุดค้นครั้งนี้ถือเป็นการขุดค้นครั้งใหญ่ครั้งที่ 2 ในประเทศไทยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยการขุดค้นครั้งแรกในปี 2565 เกิดขึ้นที่จังหวัดลำปางเช่นกัน ชิ้นส่วนกระดูกที่ขุดได้จากบริเวณดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบของห้องปฏิบัติการในฮาวาย เมื่อรวมภารกิจสองครั้งนี้ มีทหารสหรัฐฯ ที่สูญหายในประเทศไทย ซึ่งยังคงตรวจสอบอัตลักษณ์ไม่ได้จำนวน 5 นาย
ในขั้นตอนการค้นหาและขุดค้นของภารกิจแต่ละครั้ง จะเริ่มจากการค้นคว้าบันทึกเกี่ยวกับสงครามโดยละเอียด (ทั้งของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ) รวมถึงการทำงานในประเทศด้วย  DPAA โชคดีที่มีหุ้นส่วนที่ยอดเยี่ยมอย่าง พล.อ.อ.ศักดิ์พินิต พร้อมเทพ (อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ) ซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งในภารกิจค้นคว้าและตรวจหาข้อเท็จจริง หลังจากนักวิจัยมีข้อมูลเพียงพอที่จะกำหนดพื้นที่ค้นหาให้แคบลงแล้ว คณะ “ตรวจหาข้อเท็จจริง” ก็จะเดินทางมาจากฮาวายเพื่อลงพื้นที่ที่คาดว่าทหารสหรัฐฯ สูญหาย โดยพยายามระบุบริเวณที่เครื่องบินตกหรือตำแหน่งที่มีศพฝังอยู่ หลังจากคณะดำเนินการจนเป็นที่พอใจแล้ว “คณะขุดค้น” ที่มีสมาชิกจำนวนมากกว่าคณะแรกจะเดินทางมาขุดค้น โดยหวังว่าจะพบชิ้นส่วนที่เหลืออยู่ (กระดูก ฟัน หรือเนื้อเยื่อต่าง ๆ) เครื่องใช้ส่วนตัว หรือซากเครื่องบินที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถใช้เพื่อเปรียบเทียบหลักฐานกับทหารที่สูญหายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ได้

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.