เชียงรายจัดประกวดโคเนื้อในงาน “โคบาลล้านนา ครั้งที่ 3” ชงโคเนื้อสายพันธุ์ บีฟมาสเตอร์ เน้นเลี้ยงง่าย ผลตอบแทนสูง.

5

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 ที่หาดทรายเทียมหนองหลวง ต.เวียงชัย อ.เวียงชัย จ.เชียงราย นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานการประกวดโคเนื้อ “โคบาลล้านนา ครั้งที่ 3 โดยมีนายพืชผล น้อยนาฝาย ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย นายบดินทร์ เทียมภักดี นายอำเภอเวียงชัย


นายนเรศ รัศมีจันทร์ ประธานเครือข่ายโคเนื้อล้านนา นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิเช่น สภาเกษตรกร กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เกษตรจังหวัด ฯลฯ มาจัดบูทแจกเอกสารให้คำแนะนำแก่เกษตรกร รวมไปถึงพี่น้องเกษตรกรนำโคเนื้อเข้าประกวดภายในงานจำนวนมาก

นายพืชผล น้อยนาฝาย ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่าการงานจัดการประกวดโคเนื้อในครั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ขยายผลการสร้างมูลค่าเพิ่มโคเนื้อ การยกระดับและเพิ่มศักยภาพมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพอาหารปลอดภัย โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและสร้างเครือข่ายการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพอาหารปลอดภัยอย่างสร้างสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพ ในจังหวัดเชียงราย เพื่อพัฒนาศักยภาพการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ การคัดเลือกพันธุ์สัตว์ เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ การผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มโคเนื้อ เพิ่มช่องทางการตลาดให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรได้เชื่อมโยงเครือข่ายกัน และมีการจัดประกวด 2 ประเภท ได้แก่โคลูกผสมยุโรปทั่วไป และโคลูกผสมบีฟมาสเตอร์ รวมทั้งหมด 12 รุ่น โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียงในกลุ่มภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน)และผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้านปศุสัตว์ ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งในปีนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่มีการจัดประกวดโคเนื้อเกิดขึ้น ตั้งแต่มีการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อมาระยะเวลา 6 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งผลผลิตโคเนื้อที่ได้พัฒนาปรับปรุงพันธ์โดยพ่อพันธุ์สายเลือดยุโรปเริ่มเจริญเติบโตและขยายเพิ่มขึ้น จังหวัดเชียงราย มีเป้าหมายในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อ โดยการยกระดับสายเลือดพันธุ์โคเนื้อยุโรป เน้นโคเนื้อสายพันธุ์ บีฟมาสเตอร์ เป็นหลัก ในการจัดงานประกวดโคเนื้อในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ห้างร้าน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเลี้ยงโคเนื้อ กลุ่มเกษตรกรวิสากิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อต่างๆ เครือข่ายโคเนื้อล้านนา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญการเลี้ยงโคเนื้อ ตลอดจนเกษตรกรเจ้าของโคเนื้อที่ส่งโคเนื้อเข้าร่วมประกวดทั้งจังหวัดเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียง

นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่านับว่าเป็นสิ่งน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง สำหรับทุกคนที่มีโอกาสได้เข้าร่วมงานการประกวดโคเนื้อในครั้งนี้ การประกวดถือได้ว่าเป็นการประชาสัมพันธ์อย่างหนึ่ง ที่จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาและขยายตลาดเนื้อโคคุณภาพ เป็นการแสดงถึงสินค้าและผลิตภัณฑ์โคเนื้อที่ได้พัฒนามาระดับหนึ่ง  ทราบว่าจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพ มาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เริ่มมีผลผลิตโคเนื้อพันธุ์ดี ที่ได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์มาในระยะเวลา 6 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กว่าจะได้ผลผลิตโคเนื้อออกมาต้องใช้เวลานานเป็นแรมปี ทำให้สินค้าโคเนื้อมีโอกาสของเวลาที่สามารถวางแผนการผลิตและการตลาดได้ล่วงหน้า แต่อย่างไรก็ตามผลผลิตโคเนื้อคุณภาพก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอในการบริโภคภายในประเทศ ยังคงมีการนำเข้าโคมีชีวิตและเนื้อโคอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบัน ประเทศไทยต้องเจอภาวะการแข่งขันภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงการค้าเสรี(FTA)ระหว่างไทยและนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ซึ่งมีผลบังคบใช้ ในวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นมานั้น โดยมีการลดภาษี เป็น 0%  หากเราไม่มีการเร่งรัดพัฒนาทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกร จะทำให้ไม่สามารถแข่งขันทางการค้าทั้งในและต่างประเทศได้

 

การพัฒนาขยายช่องทางการตลาดโดยเน้นการประชาสัมพันธ์ การจัดการผลผลิตให้ได้คุณภาพ ซึ่งก็มีหลายปัจจัย โดยเฉพาะในเรื่องของพันธุ์สัตว์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ต้องเร่งพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้ โคเนื้อที่มีลักษณะพันธุ์ดี มีอัตราการแลกเนื้อสูง และจากงานวิจัยทางวิชาการ เนื้อที่มีคุณภาพดี ก็ต้องเป็นเนื้อที่ได้จากโคลูกผสมยุโรป พันธุ์ต่างๆ ซึ่งทราบว่า จังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งผลิตโคเนื้อสายพันธุ์ บีฟมาสเตอร์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เลี้ยงง่ายปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมบ้านเรา ถือเป็นเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่จังหวัดเชียงราย ได้เล็งเห็นความสำคัญ และได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการ โดยต้องการส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ได้พัฒนาการเลี้ยงของตนเอง ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น สามารถที่จะพัฒนาเป็นอาชีพหลักได้ต่อไป และการประกวดโคเนื้อ โคบาลล้านนา ครั้งที่ 3 ในวันนี้จึงนับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ให้ประโยชน์พี่น้องแก่เกษตรกร โดยในจังหวัดเชียงราย ทราบว่า มีการรวมตัวของพี่น้องเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในอำเภอต่างๆ เป็นเครือข่ายโคเนื้อล้านนา ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มเครือข่ายของเราเข้มแข็ง มีพลังต่อรองในเรื่องต่างๆ และทำให้เชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาดโคเนื้อ กับเครือข่ายอื่นๆในห่วงโซ่าการผลิต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมั่นคง ในอาชีพต่อไป
นายบุญสิงห์ กล่าวต่อว่าหลังจากผ่านการประกวดโคในครั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องเกษตรกรผู้เข้าร่วมงานจะได้ประโยชน์ หรือประสบการณ์ดีๆ ที่ได้เห็นโคเนื้อที่มีวิวัฒนาการปรับปรุงพันธุ์ จนได้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ต่อครอบครัว และหวังว่ากลุ่มเครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้อล้านนาจะเติบโตและเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ และขอให้มีการจัดงาน “โคบาลล้านนาครั้งที่ 4” ให้เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต.///

 

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.