วันที่ 24 เมษายน 2567 ที่ โรงแรมทีค การ์เด้น สปา รีสอร์ท จ.เชียงราย นายสุรชัย เบ้าจรรยา ประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานโครงการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรและด้านอื่นๆ ในภารกิจของสำนักงาน ตามบันทึกข้อตกลงกับกรมบัญชีกลาง (เวทีภาคเหนือ) พร้อมทั้งเป็นประธานมอบโฉนดที่ดิน ให้กับเกษตรกรจังหวัดเชียงราย ที่ได้รับการชำระหนี้แทนเกษตรกร จำนวน 5 ราย โฉนดที่ดิน จำนวน 7 แปลง เนื้อที่รวม 17 ไร่ – งาน 20.6 ตารางวา
มีนายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) กล่าวรายงาน และ นายนิยม สุวรรณประภา หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดเชียงราย (กฟก.) กล่าวต้อนรับ รวมทั้งคณะกรรมการบริหารฯ คณะทำงานฯ ผู้อำนวยการสำนัก หัวหน้าสำนักงานสาขาจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ อนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดเชียงราย เกษตรกรสมาชิก และพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เข้าร่วมกว่า 300 คน
โดยนายสุรชัย เบ้าจรรยา ประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารฯ และสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เห็นถึงความสำคัญในการติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ทั้งในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค ตามตัวชี้วัดกรมบัญชีกลาง ให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในการติดตามการดำเนินงานตามภารกิจสำนักงาน ให้เป็นไปตามแผนและเสริมสร้างและพัฒนาทักษะการดำเนินงาน สร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างพนักงานเจ้าหน้าระดับจังหวัด และระดับภูมิภาค ให้สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงาน ตามวัตถุประสงค์กองทุนฯ รวมถึงการตรวจสอบ ติดตาม สนับสนุน ประเมินผล แก้ไข ปรับปรุงและดำเนินการแผนและโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อนำไปช่วยเหลือและดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อพี่น้องเกษตรกรสูงสุด
ประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีองค์กรเกษตรกรขึ้นทะเบียน จำนวน 56,107 องค์กร เกษตรกร จำนวน 5,719,220 ราย ให้การสนับสนุนโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2549-2566 จำนวน 12,311 โครงการ งบประมาณ 1,503,432,480 บาท แยกเป็น 1.เงินอุดหนุน จำนวน 9,558 องค์กร/โครงการ จำนวนเงิน 407,857,364 บาท 2.เงินกู้ยืม จำนวน 2,753 โครงการ จำนวนเงิน 1,095,575,116 บาท โดยในปีงบประมาณ 2567 มีองค์กรเกษตรกร ยื่นเสนอแผนและโครงการฯ จำนวน 2,080 โครงการ จำนวนเงิน 12,063,454,468 บาท เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 53,110 ราย โดยจังหวัดภาคเหนือ มีโครงการฯ จำนวน 389 แผน/โครงการ จำนวนเงิน 2,811,067,941 บาท เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 13,734 ราย
ทั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสนับสนุนการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ภายใต้บริบท “ลานนาบีฟโมเดล ความยั่งยืนของอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อ เพื่อสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” โดยมี นายนเรศ รัศมีจันทร์ ผู้แทนเกษตรกรภาคเหนือ กรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร และรองประธานคณะทำงานฯ ภูมิภาคที่ 1 (ภาคเหนือ) เป็นวิทยากร โดยคณะผู้บริหารฯ ได้ลงพื้นที่ ณ เครือข่ายโคเนื้อล้านนา จ.เชียงราย เพื่อเรียนรู้การผลิตโคเนื้อคุณภาพ เรียนรู้การฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร สู่ทิศทางการเป็นผู้ผลิตและผู้ประกอบการโคเนื้ออย่างมีคุณภาพ กับทิศทางการส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในอนาคต และลงพื้นที่ ณ กลุ่มเกษตรบ้านเด่นพัฒนา หมู่ 5 เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ขององค์กรเกษตรกรที่ขอรับการสนับสนุนงบกู้ยืมจาก สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ปีงบประมาณ 2567 โครงการเลี้ยงโค วงเงินกู้ยืม 1,316,620 บาท
“อยากฝากถึงเกษตรกรทุกภาค ทุกจังหวัด ผมมีความเป็นห่วงเรื่องเดียวคือ ขณะนี้มีกลุ่มคนแอบอ้าง กองทุนฟื้นฟูฯ ว่า ขอให้มาลงชื่อและจ่ายเงินเพื่ออำนวยสะดวกในเรื่องต่างๆ เรื่องนี้ต้องบอกว่า กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่มีนโยบายการเก็บเงินจากเกษตรกรโดยเด็ดขาด และการทำงานจะทำตามระเบียบทุกขั้นตอน” นายสุรชัย ประธาน (กฟก.) กล่าว
ทางด้านนายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) กล่าวว่า ในการทำงานประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ให้นโยบายภาพรวมทั้งหมดแล้ว ในส่วนของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งกำกับดูแลพนักงาน และโครงการฟื้นฟูฯ ที่ส่งเข้ามา ก็จะเดินหน้าให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามขั้นตอนและตามกฏหมาย ล่าสุดมีโครงการฟื้นฟูฯ ที่มีการเสนอมาประมาณ 12,000 เรื่อง ซึ่งได้ให้ทางพนักงานทำเรื่องตามระบบที่ชัดเจนและเป็นตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดมา.
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.