รองนายกฯ ภูมิธรรม ลงใต้ มอบนโยบายการพัฒนาพื้นที่ จชต. ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ย้ำ รัฐบาล พร้อมผลักดันให้คนจังหวัดชายแดนใต้ อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี
วันนี้ 6 มิถุนายน 2567 เวลา 10.45 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะฯ เดินทางมายังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นประธานในการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานด้านการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) โดยมี พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต. ) นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมปัญจเพชร ชั้น 3 อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
ในการนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 2 วันที่ผ่านมาในการลงพื้นที่ ในฐานะประธาน กพต. ผมได้พบผู้แทนหน่วยงานราชการและพี่น้องประชาชนในหลายจุด พบว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้มีศักยภาพเอื้อต่อการพัฒนาในหลายด้าน จึงได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานมุ่งเน้นการปฏิบัติงานด้านการพัฒนาในพื้นที่ให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลใน 6 ด้าน ประกอบด้วย
- ด้านการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และกระจายรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ให้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ การยกระดับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับรัฐติดชายแดนไทยของมาเลเซียสู่การเป็นเมืองคู่แฝด (Twin cities) โดยเฉพาะการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 การก่อสร้างถนนเชื่อมด่านสะเดาของไทยกับด่านของมาเลเซีย การพัฒนาการท่องเที่ยว โดยเร่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้คนในพื้นที่เกิดรายได้ การส่งเสริมสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ในพื้นที่ เช่น ทุเรียน เป็นต้น ให้มีศักยภาพเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญไปยังต่างประเทศ การพัฒนาเกษตรกร ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ (Startup) และธุรกิจ SME อย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมอาหาร สินค้า และบริการฮาลาล รวมถึงส่งเสริมและผลักดัน Soft Power ของพื้นที่มาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
- ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิต โดยการเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจน การ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” ผ่านนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ด้านการศึกษา มุ่งส่งเสริมการศึกษาสายสามัญควบคู่การศึกษาสายศาสนา รวมถึงการศึกษาสายอาชีพ ทั้งในและนอกระบบการศึกษา
- ด้านสาธารณสุข เน้นส่งเสริมการให้ความรู้ด้านสาธารณสุขที่ถูกต้องเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาและบุตรหลังคลอด และผลักดันการจัดตั้งโรงพยาบาลจิตเวชเพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่
- ด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ให้ความสำคัญกับคนไทยทุกกลุ่มให้สามารถเข้าสู่บริการภาครัฐได้อย่างเท่าเทียมกัน ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตาม อัตลักษณ์ ความเชื่อ โดยไม่ปิดกั้น รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่ม อาทิ กลุ่มเยาวชน นักศึกษา กลุ่มสตรี องค์กรภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเต็มที่
- ด้านการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความช่วยเหลือดูแลและเยียวยาผู้อย่างรวดเร็ว เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และครอบคลุมทุกมิติ และ
- ด้านการขับเคลื่อนงานตามมติ กพต. มอบหมายให้ ศอ.บต. จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดขับเคลื่อน มติ กพต. ที่สำคัญให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และมอบหมายให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลัก ประสานกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 5 จังหวัด และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันผลักดันโครงการที่มีความสำคัญ เร่งด่วน และสามารถตอบสนองต่อปัญหาความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง นำเสนอให้คณะกรรมการ กพต. ผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่โดยเร็วที่สุด
ซึ่งก่อนจะเดินทางมาประชุมมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานด้านการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมให้ขวัญกำลังใจผู้ที่ได้รับการเยียวยาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ณ บริษัท สหพันธ์การไฟฟ้า จำกัด ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา หลังถูกคนร้ายลอบวางเพลิง ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และโครงสร้างอาคารจากการถูกไฟไหม้ เมื่อช่วงวันที่ 22 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ปัจจุบันได้รับเงินเยียวยาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นผู้แทนในการมอบ จำนวนเงินกว่า 24 ล้านบาท
ทั้งนี้ ด้านผู้ประกอบการ ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องเยียวยาโครงสร้างเพิ่มเติม ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ได้รับความเสียหาย และยังไม่รวมกับเงินเยียวยาที่ได้มาก่อนหน้านี้ โดยทางผู้ประกอบการ จะนำเงินที่ได้รับความช่วยเหลือ มาบริหารจัดการในส่วนทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย
อย่างไรก็ตาม ศอ.บต. ร่วมกับ จังหวัดยะลา และเทศบาลนครยะลา เร่งดำเนินการตรวจสอบโครงสร้างเพิ่มเติมให้เร็วที่สุด เนื่องจากเป็นโครงสร้างที่อยู่นอกเหนือจากที่เคยแจ้งไว้ ทางโยธาธิการฯ เร่งตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อความถูกต้องที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และคาดว่าจะได้รับการเยียวยาในเร็ววันนี้
ภาพ/ข่าว
อับดุลหาดี เจ๊ะยอ จ.ยะลา
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.