กสศ.จัดโครงการ SEE THE FUTURE ให้ทุกคนเข้าถึงสุขภาพสายตา

75

ปัญหาสุขภาพสายตาของเด็กยากจนด้อยโอกาสในเมืองไทยกับการเข้าถึงบริการทั้งการวัดสายตา การส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสายตาผิดปกติเพื่อเข้ารับการรักษา และการรับแว่นสายตาที่สถานพยาบาล มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องที่สูง เช่น ค่าเดินทาง ซึ่งปัญหาสุขภาพสายตา เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และมีส่วนทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาในระยะยาวได้
โดยงานวิจัยของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เมื่อปี 2558 พบว่าเด็กอายุ 3-12 ปี มีภาวะสายตาผิดปกติจำนวน 6.6% คาดว่ามีเด็กที่สายตาผิดปกติกว่า 5.7 แสนคน โดยประมาณ 3.5 แสนคน จำเป็นต้องใส่แว่น ขณะที่มีเด็กที่ตัดแว่นแล้วประมาณ 8 หมื่นคน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย ริเริ่ม โครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อคัดกรองสายตา I SEE THE FUTURE เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานท้องถิ่น เป็นกลไกเชื่อมโยงการทำงานของเครือข่ายทั้งด้านสาธารณสุขและการศึกษาในพื้นที่ ช่วยให้เด็กยากจน ด้อยโอกาสเข้าถึงสิทธิสวัสดิการและชุดสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพที่เหมาะสมกับช่วงวัย โดยเริ่มต้นที่ “ปัญหาสายตา” โดย สปสช. ทำหนังสือประสานแจ้งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศว่า สปสช. พร้อมสนับสนุนให้อปท.จัดทำแผนสุขภาพที่มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพสายตาของเด็ก ๆ ในพื้นที่ สร้างกลไกในการประสานหน่วยงาน องค์กร และภาคีเครือข่ายในพื้นที่เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา พร้อมสร้างการรับรู้ในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น หรือ กปท. ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับนำนักเรียนไปรับบริการที่โรงพยาบาล สำหรับรับบริการตรวจวินิจฉัย การรับแว่นตา และรับบริการตรวจประเมินสายตาเมื่อครบ 6 เดือน

โครงการ I SEE THE FUTURE จึงพัฒนาต้นแบบการทำงานที่สนับสนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเจ้าภาพ เชื่อมโยงความร่วมมือในพื้นที่ และทำแผนขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือให้เด็กและเยาวชนที่ยากจน ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองสายตาและเข้ารับการรักษา และรับแว่นตา กรณีสายตามีปัญหา ได้อย่างทันท่วงที โดยนำร่องจัดกิจกรรมเพื่อคัดกรองสายตา ก่อนส่งมอบแว่นให้เด็กที่มีความผิดปกติทางสายตา พร้อมกับเก็บข้อมูลเพื่อค้นหาผลลัพธ์การเรียนรู้หลังจากได้รับแว่นสายตาแล้ว ในพื้นที่ต้นแบบ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี สุรินทร์และสมุทรสงคราม รวมจำนวนเด็กกว่า 15,000 คน โดยคาดว่าหลังจากดำเนินการ จะมีนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับแว่นตา ประมาณ 2,000 คน

เมื่อเร็วๆ นี้ ทางโครงการฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามกระบวนการคัดตรวจคัดกรองสายตานักเรียนที่มีสภาวะผิดปกติทางสายตาในโครงการฯ เพื่อส่งต่อจักษุแพทย์ตามสิทธิ์การรักษาของสปสช. โดยร่วมกับทีมคลินิกโรคตา ณ โรงพยาบาลปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยมีนักเรียนเข้าร่วมตรวจและคัดกรองจำนวน 61 คน

พญ.นิมิษติกา หะยีวามิง จักษุแพทย์ที่เข้าร่วมในโครงการฯ บอกว่า เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อเด็กในพื้นที่อย่างมาก ควรขยายให้ครอบคลุมทุกโรงเรียน
“โครงการฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อคัดกรองสายตาเด็ก มีประโยชน์มากๆ โดยเฉพาะในเด็ก 4-6 ขวบ เขาจะยังไม่บอกว่า เขามองไม่ชัด ต้องใช้วิธีการวัดสายตา จึงบอกได้เลยว่า เด็กคนนี้มองชัดหรือไม่ชัด จะได้ตัดแว่นให้เด็ก ในช่วงแรกเกิด-8 ขวบ หากมองเห็นชัดเท่าไหร่ สมองเขาจะพัฒนาการมองเห็นได้มากขึ้นเท่านั้น สมองก็มีการพัฒนา มองเห็น โตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่หากมารู้หลังอายุ 8 ขวบว่ามีปัญหาสายตา ต่อให้ตัดแว่นดียังไงก็ไม่สามารถเรียกการมองเห็นกลับมาได้ เพราะสมองพัฒนาการมองเห็นแค่แรกเกิด-8 ขวบ
โครงการนี้ทำให้เด็กเข้าถึงแว่นสายตาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้คุณภาพชีวิตเด็กดีขึ้น เป็นโครงการที่ดีมาก ต้องขยายพื้นที่และโอกาสให้เข้าถึงทุกโรงเรียน”

“โครงการนี้ได้ประโยชน์แก่เด็กที่เข้าโครงการและสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมตามช่วงวัย และสภาพปัญหา ปัญหาที่เจอเยอะคือ สายตาสั้น ยาว และเอียง ตาเข ตาชี้เกียจ มีทั้งเคสที่มาทันเวลา สามารถแก้ไขได้ ซึ่งในช่วงอายุ 0-7 ขวบ จะพัฒนา 100 เปอร์เซ็นต์เมื่อครบ 7 ขวบหากช่วง 0-7 ขวบ มีปัญหาการมองเห็นทำให้สายตาผิดปกติ ไม่ได้รับการแก้ไขทันท่วงทีทำให้สายตาชะงักไป มีบางเคสที่หลุดไปเช่น 11 ขวบแล้ว แต่เป็นเพียง 2-3 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เด็กได้รับจากโครงการฯ คือได้รับการแก้ไขที่เหมาะสมเช่น การตัดแว่นสายตาที่เหมาะสม หรือบางเคสที่ต้องมีการปิดตาสลับข้างเพื่อภาวะการมองเห็น การตรวจจอประสาทตาเพื่อดูว่าดีหรือไม่ แต่ไม่เจอมะเร็งจอประสาทตา” นพ.ภูมิเตชิษฐ์ พัฒน์ธานิศ จักษุแพทย์ร่วมโครงการบอกถึงปัญหาที่พบเจอของเด็กที่ร่วมโครงการ

ด้าน นางนูรียะ สามะ วัย 38 ปี แม่ของ ฟิรดาวส์ วาเลาะ ลูกสาววัย 9 ปี จากรร.บ้านกระหวะ อ.มายอ จ.ปัตตานี บอกถึงอาการเคืองตา มองพร่าของลูกสาว แต่ไม่เคยไปหาหมอ เมื่อครูพาไปวัดสายตาก็เจอว่า ลูกสายตาพร่า และได้เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อมารพ. คุณหมอให้วัดสายตาและตรวจ และจะส่งแว่นที่ไปที่รร. เธอดีใจมากที่จะได้รักษาสายตาลูกสาวทันเวลา เพราะดวงตาสำคัญอันดับหนึ่งคือการมองเห็น

“ปีที่แล้วครูไปสอนคณิตศาสตร์แล้วเขาบอกมองไม่เห็น ต้องไปยีนชิดกระดาน เขียนช้ามาก ต้องดูทีละตัว จึงพาไปตัดแว่นใส่มา 1 ปี พอมีโครงการฯ ก็อยากให้มาตรวจและตัดแว่นเพิ่มจะได้มีแว่นสำรอง เพราะทางบ้านเขาฐานะลำบาก หมอบอกว่าค่อนข้างสั้นมาก ต้องบริหารสายตาโดยการปิดตา ใช้ตาข้างละ 3 ชม. สลับตาซ้ายขวา มีแผ่นปิดตาปิดที่แว่น ถ้าอายุ 10 ปี สายตาจะกู้คืนมาลำบาก จะเป็นถาวร เมื่อมีแว่นทำให้เห็นชัดขึ้น การเรียนก็ดีขึ้น

ครูดีใจแทนนักเรียนทุกคนที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกคนที่มีโครงการฯนี้ให้เด็กๆ ชีวิตสดใส การเรียนดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น” ฉวีวรรณ เพชรพิมล ครูประจำชั้นป.3 รร.บ้านนอก อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ผู้ดูแล ด.ช.มูฮัมหมัดซาฟีอี กาแม วัย 9 ขวบ ลูกชายนางแอเสาะ ฮะแว วัย 49 ปี ที่ไปกรีดยางกับสามีในมาเลเซีย โดยมีพี่สาวช่วยดูแลมูฮัมหมัดซาฟีอี
พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูประจำชั้น ต้องหมั่นคอยสังเกตอาการของเด็ก หากเห็นถึงความผิดปกติทางสายตา ควรติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในชุมชนหรือใกล้บ้านเพื่อขอรับความช่วยเหลือนการตรวจวัดสายตาเบื้องต้น และรักษาตามขั้นตอนต่างๆ ต่อไปอย่างงเร่งด่วน เพื่อการมองเห็นและชีวิตที่ดีขึ้นของเด็กๆ

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.