กรมชลประทาน ทุ่มงบ 17,000 ล้าน ปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี

34

กรมชลประทาน ศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.66 – 29 ส.ค. 67 พร้อมทุ่มงบ 17,000 ล้านบาท ดำเนินการแก้ปัญหาทุกด้านในระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี หวังประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในพื้นที่

โครงการฯ ได้จัดกิจกรรมสื่อสัญจรเพื่อรับฟังการสรุปผลการศึกษาโครงการฯ ณ ห้องประชุม โครงการฯ ณ  ม.4 ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 67 พร้อมการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการฯ โดยมี นายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธาน โดยมีผู้เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งภาครัฐ ผู้นำท้องถิ่น ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลการศึกษาความเหมาะสม การปรับปรุงโครงการทั้งระบบผลผลิตและผลลัพธ์การดำเนินโครงการ ผลประโยชน์และผลกระทบ และแนวทางในการป้องกันแก้ไขผลกระทบ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 67 ณ ห้องน้ำพราว โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี

เนื่องด้วยกรมชลประทาน มีแผนจะดำเนินงานปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานีทั้งระบบทั้งในด้านการปรับปรุงปรุงองค์ประกอบต่างๆ ได้แก่ หัวงานเขื่อนปัตตานี อ่างเก็บน้ำ อาคารระบายน้ำล้นฉุกเฉิน คลองระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ คลองส่งน้ำชลประทาน ระบบกระจายน้ำ และอาคารประกอบต่างๆ การบริหารจัดการน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการส่งน้ำ การระบายน้ำ ทั้งนี้เพื่อเป็นการหารือกับภาคประชาชน เพิ่มศักยภาพและความเข้มแข็งขององค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการบริหารจัดการโครงการและการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อน ในช่วงน้ำท่วม และปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง และปัญหาอื่นๆอีกเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น   สำหรับในเขตพื้นที่ที่จัดตั้งโครงการนี้ มีพื้นที่ทั้งหมด 9 อำเภอ 89 ตำบล ในจังหวัดปัตตานีและยะลา มีพื้นที่ 691,820 ไร่ และพื้นที่ชลประทาน385,622 ไร่ รวมทั้งหมดพื้นที่ข้างเคียงและพื้นที่ท้ายน้ำ เพื่อเพิ่มศักยภาพในโครงการอนาคตต่อไป

กรมชลประทาน จึงได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จำนวน 4 บริษัท พร้อมผู้เชี่ยวชาญกว่า 20 คน ดำเนินการศึกษาตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.66 – 29 ส.ค. 67

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี เป็นโครงการหนึ่งในการพัฒนาลุ่มน้ำแม่น้ำปัตตานี ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญในเขตลุ่มน้ำภาคใต้ตอนล่างของไทย มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำประมาณ 5,000 ตารางกิโลเมตร โดยกรมชลประทานได้เริ่มก่อสร้างโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี ในปี พ.ศ. 2511 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2537 เป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ประเภททดน้ำและส่งน้ำพร้อมทั้งระบายน้ำ มีพื้นที่โครงการ 691,820 ไร่ อยู่ในเขตการปกครองของ 9 อำเภอ 89 ตำบล ในจังหวัดยะลาและจังหวัดปัตตานี ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 385,622 ไร่

หลังจากได้มีการก่อสร้างและใช้งานมาเป็นเวลานาน องค์ประกอบต่างๆ ของโครงการเสื่อมสภาพลงไป ในปี2544-2546 กรมชลประทาน ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการฯ นำผลจากการศึกษาความเหมาะสมมาปรับปรุงโครงการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน พบว่าโครงการยังประสบปัญหาและอุปสรรค สรุปได้ดังนี้

1.ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง 2.ปัญหาการแพร่กระจายน้ำ เนื่องจากคลองส่งน้ำ คูส่งน้ำ มีสภาพชำรุดทรุดโทรม บางส่วนเป็นคลองดิน 3.ปัญหาการระบายน้ำและน้ำท่วม เพราะคลองระบายน้ำมีศักยภาพไม่เพียงพอที่จะรองรับปริมาณน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากได้ 4.ระบบชลประทานและอาคารชลประทานก่อสร้างมาเป็นเวลานาน มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน และมีการสูญเสียน้ำมาก 5.ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่การเกษตรบริเวณชายฝั่งทะเลของพื้นที่โครงการ 6.อัตรากำลังไม่เพียงพอที่จะดูแลและบำรุงรักษาอาคารต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ

จากผลการวิเคราะห์หาความถี่ของการเกิดน้ำท่วมของพื้นที่ประสบอุทกภัยในลุ่มน้ำแม่น้ำปัตตานีและพื้นที่ใกล้เคียง โดยได้จำแนกความถี่ในการเกิดน้ำท่วมเป็น 4 ระดับ (ความถี่ในการเกิดน้ำท่วมน้อย 1-2 ครั้ง ปานกลาง 3-4 ครั้ง มาก 5-7 ครั้ง และมากที่สุดคือมากกว่า 8 ครั้ง ในรอบ 14 ปี ) สรุปได้ดังนี้

พื้นที่ประสบอุทกภัยส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำฝั่งติดทะเล อาทิ พื้นที่น้ำท่วมริมคลองอาลูในเขตจ.นราธิวาส พื้นที่น้ำท่วมริมคลองเทพาในเขตจ.สงขลา พื้นที่น้ำท่วมริมแม่น้ำปัตตานี ในเขตจ.ปัตตานี เป็นต้น ความถี่การเกิดน้ำท่วมอยู่ในช่วงปานกลางถึงมากที่สุด ส่วนพื้นที่น้ำท่วมริมคลองยางแดง ในเขตจ.สงขลา ที่เป็นพรุมีความถี่การเกิดน้ำท่วมมากถึงมากที่สุด

สถานการณ์น้ำท่วมในปีต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือนพ.ย.-ม.ค. ลมมรสุมพัดพาความชื้นจากอ่าวไทยมาขึ้นบกที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์-นราธิวาส บางปีจะมีลมพายุจรจากประเทศเวียดนาม พัดผ่านเข้ามาด้วย ทำให้มีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ประกอบกับสภาพภูมิประเทศพื้นที่โครงการฯ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ลุ่มต่ำ ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลขึ้นสูง ปีใดมีฝนตกหนักปริมาณน้ำมีมากจนเกินขีดความสามารถในการระบายน้ำของลำน้ำ เกิดน้ำหลากไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณสองฝั่งลำน้ำของแม่น้ำปัตตานี และลำน้ำสาขา

จากสภาพปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น กรมชลประทานเห็นควรต้องมีการปรับปรุงโครงการทั้งระบบ ทั้งการปรับปรุงอาคารองค์ประกอบต่างๆ การบริหารจัดการน้ำ การใช้เทคโนโลยีระบบโทรมาตรและระบบควบคุมระยะไกล เพื่อแก้ไขปัญหาในปัจจุบันและเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการในอนาคตต่อไป จึงดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี

นายไพรัตน์ วีรุตมเสน ผู้จัดการโครงการ กล่าวถึงภาพรวมของโครงการฯ ว่า ในการศึกษาเพื่อ 1.ประเมินผลโครงการปัจจุบัน และนำประเมินกำหนดแนวทางการปรับปรุงโครงการให้ได้ประโยชน์สูงสุด 2.ศึกษาแนวทางที่เหมาะสมการปรับปรุงขนาดคลองและอาคารต่าง ๆ ในระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำของโครงการให้มีประสิทธิภาพ 3.ศึกษาผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ แนวทางแก้ไข และลดผลกระทบที่เหมาะสม 4.จัดทำแผนงานและแผนการลงทุนที่เหมาะสม สำหรับการปรับปรุงโครงการตามผลการศึกษา 5.กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจัดทำคู่มือการบริหารจัดการน้ำ พัฒนาระบบฐานข้อมูลของโครงการ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่ทันสมัย 6.กำหนดแนวทางการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน และ 7.เพื่อให้ได้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ของพื้นที่โครงการ สำหรับใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการโครงการ

รวมทั้งเพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบชลประทานและระบบระบายน้ำ ให้ประชาชนมีน้ำใช้ เพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมและอื่น ๆ อย่างเพียงพอโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง พัฒนารูปแบบการบริหารจัดการน้ำและการชลประทานให้มีประสิทธิภาพ บรรเทาความเสียหายเนื่องจากอุทกภัยในพื้นที่โครงการและพื้นที่ข้างเคียง บรรเทาความเสียหายเนื่องจากน้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่การเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการให้ดีขึ้น พัฒนาระบบฐานข้อมูลโครงการและเสนอแนะเทคโนโลยี เพื่อการบริหารจัดการน้ำที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และปรับปรุงองค์กรผู้ใช้น้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ของโครงการ

สภาพการระบายน้ำในเขตพื้นที่โครงการฯ มีแม่น้ำปัตตานีเป็นทางระบายน้ำหลักออกสู่ทะเล มีคลองตุยง คลองระบายน้ำ D8 และคลองระบายน้ำ D9 ที่ช่วยแบ่งน้ำระบายออกสู่ทะเล มีประตูระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในคลองให้อยู่ในระดับที่ไม่ทำให้เกิดน้ำท่วม มีชุมชนหลักที่สำคัญคือ เทศบาลเมืองปัตตานี ริมแม่น้ำปัตตานี เทศบาลตำบลหนองจิก ริมคลองตุยง และชุมชนขนาดเล็กริมแม่น้ำปัตตานีและคลองสาขา เช่น ชุมชนในเขตต.ปะกาฮะรัง ในที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำปัตตานี เป็นต้น

ปัจจุบันแม่น้ำปัตตานี คลองตุยง และคลองระบาย D8 ซึ่งเป็นทางระบายน้ำหลัก รับน้ำต่อเนื่องมาจากเขื่อนปัตตานี สามารถระบายน้ำหลากได้ประมาณ 300 200 และ 100 ลบ.ม./วินาที ตามลำดับ ซึ่งโดยปกติประตูระบายน้ำของเขื่อนปัตตานีจะระบายน้ำหลากได้สูงสุดไม่เกิน 750 ลบ.ม./วินาที โดยระดับน้ำสูงสุดหน้าเขื่อนอยู่ที่ระดับสันทางระบายน้ำล้น มีค่าใกล้เคียงกับความสามารถในการระบายน้ำออกสู่ทะเลของคลองระบายน้ำสายต่าง ๆ แต่ถ้ามีปริมาณน้ำหลากมากกว่า 750 ลบ.ม./วินาที จะมีปริมาณน้ำส่วนเกินระบายผ่านทางระบายน้ำล้นของเขื่อนปัตตานีลงไปรวมกับปริมาณน้ำที่ไหลผ่านประตูระบายน้ำ

สรุปได้ว่า ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่น้ำปัตตานีตอนล่าง จะเกิดขึ้นเมื่อมีปริมาณน้ำหลากไหลผ่านเขื่อนปัตตานีมากกว่า 750 ลบ.ม./วินาที (ยกเว้นพื้นที่ลุ่มต่ำในต.ปะกาฮะรังที่อาจถูกน้ำท่วมแม้อัตราการไหลผ่านเขื่อนปัตตานีจะน้อยกว่า 750 ลบ.ม./วินาที) ทำให้เกิดน้ำหลากไหลล้นทางระบายน้ำล้นของเขื่อนปัตตานี จนคลองระบายน้ำสายต่าง ๆ ไม่สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ทัน เกิดน้ำล้นตลิ่งแล้วไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ราบริมแม่น้ำปัตตานี คลองตุยง และคลองระบายน้ำ D8 หากโดยปกติ น้ำหลากจะไหลบ่าห่างจากลำน้ำไม่มากนัก เนื่องจากคลองระบายน้ำแทบทุกสายจะมีคลองส่งน้ำชลประทานของโครงการฯ ซึ่งมีระดับหลังคันคลองสูงขนานไปทั้งสองฝั่งคลองตลอดแนว พื้นที่น้ำท่วมจะจำกัดอยู่ระหว่างคันคลองส่งน้ำ แต่ถ้าปีใดน้ำหลากไหลผ่านเขื่อนปัตตานีมาก หรือคันคลองส่งน้ำถูกชาวบ้านทำลาย น้ำหลากจะไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ราบตอนล่างเป็นบริเวณกว้าง

สำหรับแผนการดำเนินงานปรับปรุงโครงการ 1.แผนการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ ประกอบด้วย แผนงานปรับปรุงซ่อมแซมคลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำและอาคารประกอบ แผนงานบรรเทาอุทกภัย แผนงานขยายพื้นที่ชลประทาน และแผนการปรับปรุงด้านองค์กรและการบริหารจัดการน้ำแบบอัจฉริยะ (Smart Farming) 2.ระยะของแผนปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ จัดตามลำดับความสำคัญและบรรจุเข้าแผนระยะสั้น 3 ปี ระยะกลาง 3 ปี และระยาว 4 ปี รวมระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี ดังนี้ 1.แผนระยะสั้น การปรับปรุงระบบส่งน้ำและระบายน้ำเดิมในแต่ละพื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษา ที่ผลการประเมินอาคารมีความเสียหายอยู่ในระดับมาก 2.แผนระยะกลาง การปรับปรุงระบบส่งน้ำ ระบายน้ำเดิมในแต่ละพื้นที่ส่งน้ำการบำรุงรักษา ที่ผลการประเมินอาคารมีความเสียหายอยู่ในระดับปานกลาง 3.ระยะยาว งานบำรุงรักษาอาคารต่างๆ

นายไพโรจน์ แซ่ด่าน ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี กล่าวถึงการปรับปรุงโครงการฯ ว่า เน้นผลประโยชน์ที่ได้รับคือ  “1.ผลประโยชน์ทางการเกษตร ทำให้มีน้ำที่ใช้ได้ในการเกษตรตลอดทั้งปี และปริมาณน้ำมีเสถียรภาพ มูลค่าผลประโยชน์ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ในพื้นที่ชลประทานในปัจจุบัน 385,622 ไร่ และพื้นที่ชลประทานส่วนที่ขยายเพิ่มอีก 50,000 ไร่ รวมทั้งหมด 435,622 ไร่ 2.ผลประโยชน์ด้านการใช้น้ำอุปโภคและบริโภค จากการประเมินความต้องการน้ำในพื้นที่โครงการ พบว่า มีความต้องการส่วนเพิ่ม 0.22  ล้าน ลบ.ม. สามารถสำรองไว้ โดยไม่ต้องไปจัดหาน้ำจากแหล่งอื่นเมื่อถึงเวลาที่ต้องการใช้จริง หรือเมื่อเกิดภาวะภัยแล้ง ทำให้ไม่ขาดแคลนน้ำ 3.ผลประโยชน์ด้านการบรรเทาอุทกภัย คือ การป้องกันและการบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุทกภัย ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ในพื้นที่โครงการและพื้นที่ท้ายเขื่อนปัตตานี ดำเนินไปได้ตามปกติ หรือการลดความเสียหายของทรัพย์สิน เมื่อมีการปรับปรุงโครงการ จะลดพื้นที่น้ำท่วมที่ระดับความลึกต่างๆ ในพื้นที่ท้ายเขื่อนปัตตานี (ในรอบ 25 ปี) จาก 129,131 ไร่ ลดลงเหลือ 65,219 ไร่ 4.ผลประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น การป้องกันและการลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรุกล้ำของน้ำเค็ม ผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว แหล่งสันทนาการ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชน เป็นต้น

หลังจากมีการส่งมอบผลการศึกษาโครงการฯ กรมชลประทานพิจารณาจัดสรรงบประมาณ และดำเนินการก่อสร้างภายในเวลา 5-10 ปี”

นายนิน คงคูณเพิ่ม ประธานชมรมผู้ใช้น้ำคอกกระบือ ได้กล่าวในการประชุมและเสนอแนะให้กับทางกรมชลฯ ว่า การจะสร้างคลองชลประทาน อยากให้พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ติดฝั่งคลอง ควรดูพื้นที่ให้เหมาะสมกับพื้นที่ระบายน้ำ เนื่องจากฤดูน้ำหลาก น้ำป่าเอ่อล้นจากภูเขา ทำให้ผ่านคันดินลงสู่ทุ่งแปลงเกษตร ทุ่งนา พืชผลทางการเกษตรเกิดความสูญเสีย น้ำได้ล้นเอ่อเข้าท่วมบ้านประชาชนอย่างรวดเร็วทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก

0

 

 

 

 

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.