“เหนื่อย…” เป็นคำพูดแรกที่ มนูญ บอกถึงความรู้สึกเมื่อจบการออกค่าย ก่อนที่จะขยายความต่อว่า “แต่คุ้มค่าเหนื่อยมาก เพราะได้มิตรภาพจากเพื่อนชาวค่ายทุกคนกลับมา ทั้งเพื่อนนักศึกษาชาวไทยและนักศึกษาต่างชาติ จากทั้ง 6 มหาวิทยาลัยภาคเหนือ ที่มาเข้าค่ายใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน”
มนูญ หะยีเมาะลอ (ฟาน) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเคมีวิเคราะห์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เป็นผู้รับผิดชอบ “โครงการเครือข่ายต้นกล้าบูรณาการเยาวชนอาเซียน” ที่จัดขึ้นหลังจากโครงการของเขาได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการประกวดเขียนโครงการในหัวข้อ “การพัฒนาเยาวชนเพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมีผู้นำนักศึกษากว่า 70 คน จาก 6 มหาวิทยาลัยในเขตภาคเหนือเข้าร่วมออกค่ายครั้งนี้ และมีตัวแทนจาก มฟล. จำนวน 10 คน (นักศึกษาไทย 4 คน, อินโดนีเซีย 1 คน, เมียนมาร์ 3 คน) ระหว่างวันที่ 5-8 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งมหาวิทยาลัยนเรศวรรับเป็นเจ้าภาพในการจัดสถานที่ออกค่าย
ในการจัดโครงการต้นกล้าอาเซียนครั้งนี้ฯ มนูญ เล่าว่ามีกิจกรรมหลากหลายด้านที่นักศึกษาชาวค่ายให้ความสนใจ เช่น การเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จากแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ที่ไร้มะปรางของครูบุญชอบ อิ่มเอม ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดสุโขทัย, การผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวภาพจากกากอ้อยที่โรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย, ศึกษาวิถีชีวิตชาวไทยพวน และการผลิตผ้าทอมือที่พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ, พิธีแห่ช้างบวชนาคที่บ้านหาดเสี้ยว ซึ่งล้วนแฝงวิธีคิด มุมมองและวิถีชีวิตของชาวไทยในด้านต่างๆ เอาไว้ ทำให้นักศึกษาที่มาจากภาคต่างๆ รวมถึงนักศึกษาชาวต่างชาติได้เปิดโลกทัศน์ และนำความรู้ที่ได้กลับมาอภิปรายร่วมกันถึงจุดเด่นและความแตกต่างทางวัฒนธรรม รวมไปถึงการนำความรู้ที่ได้เรียนมาในสาขาของตนเอง มานำเสนอเพื่อการพัฒนาในจุดต่างๆ ที่น่าสนใจ
มนูญ ยังได้เล่าถึงช่วงหนึ่งของการเข้าค่าย คือการบรรยายในหัวข้อ Knowledge and Skill Set for ASEAN Youth in the Twenty-First Century หรือการบูรณาการองค์ความรู้และทักษะเพื่อเยาวชนอาเซียนในศตวรรษที่ 21 โดยการบรรยายนี้ได้ช่วยปูพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน ทั้งด้านประวัติศาสตร์เบื้องต้น วิถีชีวิต การเกิดของประเทศต่างๆ และการกลับมารวมกันเป็นประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ ความรู้ที่ได้เป็นเหมือนการปรับทัศนคติและสร้างความเข้าใจต่อการเปิดรับการแลกเปลี่ยนด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อพร้อมใช้ชีวิตและทำงานได้ในสังคมต่างวัฒนธรรม
“สิ่งประทับใจในค่ายต้นกล้าอาเซียนฯ ก็คือได้เปิดมุมมองใหม่จากเพื่อนที่มาจากภาคอื่นๆ อย่างผมเป็นคนปัตตานี มาจากภาคใต้ก็จะรู้สึกแปลกใหม่เมื่อได้เข้าไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนภาคเหนือ มันมีรายละเอียดหลายอย่างซ่อนเอาไว้ที่เราไม่เคยเห็นจากสื่อต่างๆ และเมื่อกลับมาจากการลงพื้นที่ เพื่อนๆ ทุกคนก็จะมาทำเวิร์กช็อป แลกเปลี่ยนความคิดคิดจากสิ่งที่พวกเราไปพบไปเจอ ได้แชร์ไอเดียกับเพื่อนชาวอาเซียน ยิ่งทำให้รู้ว่าเราต้องตื่นตัวมากขึ้น เราต้องพัฒนาตัวเองด้านไหนอีกบ้าง เพื่อให้ทัดเทียมกับเพื่อนชาวต่างชาติ โดยเฉพาะทักษะด้านภาษาอังกฤษ เมื่อก่อนเราอาจจะติดมือถือ เล่นแต่โซเชียล แต่มาค่ายนี้หลายคนถือทอล์กกิ้งดิกชันนารี่ติดมือ เพื่อนๆ หลายมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เรียนเป็นภาษาอังกฤษก็บอกว่าอยากมาค่ายนี้ ทุกคนเตรียมตัวที่จะได้เจอเพื่อนต่างชาติ จะได้พัฒนาภาษาอังกฤษของตัวเอง เมื่อถึงเวลาที่ต้องสื่อสารกันจริงๆ เราก็สามารถทำได้” มนูญ เล่าเรื่องค่าย
ท้ายสุด มนูญ เปิดใจว่าอยากให้มีโครงการนี้ในปีต่อๆ ไป โดยให้มหาวิทยาลัยอื่นเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ไม่ว่าจะเป็น ม.เชียงใหม่ มรภ.เชียงใหม่ มรภ.พิบูลสงคราม ม.พะเยา ม.นเรศวร และ ม.แม่ฟ้าหลวง ให้เด็กชาวค่ายในปีนี้ได้เป็นผู้นำค่ายในปีต่อไป พัฒนาเป็นเครือข่ายนักศึกษาอาเซียนที่เข้มแข็ง ก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนด้วยความพร้อมทั้งทางด้านวิชาการ ทักษะการสื่อสาร รวมถึงทักษะในการทำงานร่วมกันในสังคมหลากวัฒนธรรม และก้าวสู่โลกไร้พรมแดนอย่างแท้จริง
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.