ระหว่าง วันที่ 14-15 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ทางทีมงานเจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตร่วมกับชุมชนได้ทำการศึกษาระบบนิเวศน์ที่ชาวประมงเคยจับปลากระเบนแม่น้ำโขงได้ จำนวน 16 จุด จากอำเภอเชียงของ ถึงแก่งผาใดอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ร่วมกับ 4 ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่เป็นกลุ่มนักวิจัยชาวบ้าน ในการสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากระเบนในระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง การสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจระยะที่ 2 หลังจากระแรกได้ทำการสำรวจจากสามเหลี่ยมทองคำอำเภอชียงแสนมาถึงอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย การดำเนินกิจกรรมครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ใช้วิธีการงานวิจัยชาวบ้านในกระบนการศึกษา หาแนวทางการอนุรักษ์ปลากระเบนแม่น้ำโขง โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนลุ่มน้ำโขง จังหวัดเชียงราย มีวัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อศึกษาข้อมูลทั่วไป องค์ความรู้ท้องถิ่นและสถานการณ์ที่เกี่ยวกับปลากระเบนแม่น้ำโขงและเพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์ปลากระเบนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน จังหวัดเชียงราย
จาการศึกษาพบจุดที่ชาวประมงแม่น้ำโขงจับปลากระเบน ได้ 38 จุด ในแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย ใน อำเภอเชียงแสน เชียงของ และอำเภอเวียงแก่น ตลอดระยะทาง 97 กิโลเมตร มีลักษณะระบบนิเวศนที่เป็นแอ่งน้ำวน พื้นที่ลึกเว้าริมฝั่งเช่น คก กว๊าน และปากแม่น้ำ มีพื้นดินเป็นโคลนปนทราย น้ำไหลวน ไม่ไหลเชี่ยว อยู่ใกล้กับแก่งหิน เช่นแก่งคอนผีหลง แก่งคอนเอียน แก่งผาใด เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากระเบน อุณหภูมิน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ 22.8 องศา ค่าความเป็นกรด-ด่าง(PH)เฉลี่ยน 7.46
นายเกรียงไกร่ แจ้งสว่าง เจ้าหน้าที่สมาคมแมน้ำเพื่อชีวิตให้ข้อมูลว่า ปลากระเบนแม่น้ำโขงหรือปลากระเบนลาว คนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงรายเรียกว่า “ปลาฝาไม” มีชื่ออังกฤษว่า Mekong stingray และ Mekong freshwater stingray เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง มีลำตัวแบนกลม ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลนวล กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว และมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือส้มปน ปากและช่องเปิดเหงือกอยู่ด้านใต้ลำตัว ส่วนหางยาวกว่าลำตัว มีเงื่องพิษขนาดใหญ่อยู่ที่โคนหางน้ำหนักมากสุดชาวบ้านเคยจับได้ 31 กิโลกรัม เป็นปลากินเนื้อ หากินตามพื้นท้อง กินเนื้อ อาหารของปลากระเบนได้แก่ ไส้เดือน ตัวอ่อนแมลงชีปะขาว กุ้งฝอย สัตว์หน้าดินอื่นๆ ปลาขนาดเล็ก และสัตว์มีเปลือก หรือหอยชนิดต่าง ๆ
“ปลากระเบนเป็นปลาหายากในแม่น้ำโขงมีการพบตัวได้น้อยมาก ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันพบเพียง 3 ชุมชนคือชุมชนบ้านดอนที่ ตำบลริมโขง บ้านปากอิงใต้ ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ และที่บ้านห้วยลึก ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ปลากระเบนแม่น้ำโขงถูกจัดอยู่ในสถานภาพ จากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ IUCN Red List สถานะ ใกล้สูญพันธุ์(Endangered-EN) หมายถึง ชนิดพันธุ์ที่กำลังอยู่ในภาวะอันตรายที่ใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากโลกหรือสูญพันธุ์ไปจากแหล่งที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ ถ้าปัจจัยต่างๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการสูญพันธุ์ยังดำเนินต่อไป” นายเกรียงไกร กล่าว
นายชัยวัฒน์ ดวงธิดา ชาวประมงบ้านห้วยลึก กล่าวว่า ปีหนึ่งสามารถจับได้ 3-5 ตัว โดยในช่วงพฤษภาคม ถึง มิถุนายน เคยจับได้ประมาณ ตัวละ 20 กว่ากิโลกรัม โดยปลากระเบนจะหากินตามริมฝั่ง โดยชาวบ้านจะหาปลาโดยใช้ตาข่าย ดักที่โป่ง หรือจุดที่เป็นน้ำวน ในการประกาศเขตอนุรักษ์ในพื้นที่ของพื้นที่บ้านห้วยลึกซึ่งประกาศมาก่อนหมู่บ้านอื่นๆ พบว่าหลังจากที่ได้ทำเขตอนุรักษ์แล้วทำให้ปลาในแม่น้ำโขงได้มีโอกาสได้ขยายพันธุ์ ทำให้จำนวนมาในแม่น้ำโขง และแหล่งหาปลาเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อปลาเติบโตเต็มที่ก็จะออกไปอยู่ตามแหล่งอาหารต่างๆ ทำให้ชาวประมงสามารถหาปลาในแม่น้ำโขงได้มากขึ้น และสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งภัยคุกคามของปลากระเบน มี 4 สาเหตุหลักๆ คือ การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติ ร่องน้ำเปลี่ยนแปลง สองการสร้างพนังป้องกันตลิ่งทำให้ระบบนิเวศริมฝั่งเปลี่ยนแปลง สาเหตุที่สามการใช้สารเคมีการเกษตร ส่งผลต่อแหล่งอาหาร ความหลากหลายของสัตว์น้ำ และสาเหตุที่สี่การใช้เครื่องมือรุนแรงเช่น ไฟฟ้าช็อต ระเบิด ยาเบื่อ เป็นสาเหตุสำคัญให้ปลากระเบนและปลาชนิดอื่นในแม่น้ำโขงลดจำนวนลง
สำหรับแนวทางการทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาร่วมกับชุมชน ได้มีการวางแผนไว้โดยการศึกษาวิจัยครั้งนี้ร่วมกับ 10 ชุมชน ริมฝั่งแม่น้ำโขงมีเป้าหมายเพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยของปลากระเบน ระยะแรกของการศึกได้ทำการประกาศเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำในแม่น้ำโขงแห่งแรกภายใต้การศึกษาครั้งนี้ ขึ้นที่บ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 11 ตุลาคม 2567 จากความร่วมมือ 4 ฝ่าย ระหว่างชุมชนบ้านดอนที่ องค์การบริหารส่วนตำบลริมโขง สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต และประมงจังหวัดเชียงราย ในการจัดกิจกรรมเปิดเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาแม่น้ำโขงขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงที่จะเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ให้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไปในลุ่มน้ำโขง และเตรียมสร้างแหล่งเรียนรู้ปลากระเบนแม่น้ำโขง และมีแผนเตรียมปลากาศเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำแห่งที่ 2 ที่บ้านเชียงแสนน้อย ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 23 ธันวาคม 2567ต่อไป
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.