วันที่ 4 เมษายน 2568 นายอาวีระ ภัคมาตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ(สคพ.)ที่ 1 เชียงใหม่ ได้เปิดเผยถึงผลการตรวจคุณภาพน้ำในแม่น้ำกก โดยผลการตรวจไม่พบไซยาไนด์ เพราะปกติออกมาตามธรรมชาติเมื่อเจอแดดและความร้อนก็จะสลายตัว แต่ตรวจพบสารหนู ซึ่งปกติอยู่กับแร่ทองคำ โดยได้เก็บตัวอย่างน้ำที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ จุดแรกห่างจากชายแดนพม่า ที่บ้านแก่งทรายมูล ต.ท่าตอน เพียง 500 เมตร โดยพบสารหนูเกินค่ามาตรฐาน 2 เท่า ซึ่งปกติค่ามาตรฐานอยู่ที่ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่พบค่าสารหนู มากถึง 0.026 มิลลิกรัมต่อลิตร
นายอาวีระกล่าวว่า จุดตรวจถัดมาอยู่บริเวณแถวสะพานท่าตอน และอีกจุดท้ายน้ำลงไป ก็พบว่ามีสารหนูเกินค่ามาตรฐานทั้ง 3 จุด หากเราสัมผัสน้ำที่มีสารหนู เช่น เมื่อก่อนทางใต้เป็นมีโรคไข้ดำ หากมีการสัมผัสต่อเนื่องอาจเกิดความเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดมะเร็งได้ หากกินเข้าไปอาจก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษ และร่างกายผิดปกติ
นายออาวีระกล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าได้เชิญผู้บริหารมาร่วมประชุมเพื่อแจ้งเตือน และสื่อสารไปยังผู้นำชุมชน สำหรับประชาชนที่จะลงเล่นน้ำในแม่น้ำกก หากหลีกเลี่ยงได้ควรรีบลงรีบขึ้น หากใครมีบาดแผลก็ต้องระวังมากกว่าปกติ สำหรับประปาหมู่บ้าน หรือการนำน้ำกกเข้าไปใช้ในพื้นที่การเกษตร ต้องระมัดระวัง โดยทางการประปา ต้องดูกระบวนการผลิตให้เข้มข้นเนื่องจากสารเหล่านี้อยู่ในอาหารจำพวกสัตว์น้ำได้ คงต้องมีมาตรการตรวจสอบว่าเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหารหรือไม่ อย่างไร
สำหรับความกังวลในเมืองเชียงราย ซึ่งใช้แม่น้ำกกเป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา นายอาวีระกล่าวว่าได้เก็บตัวอย่างน้ำของเชียงรายเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ผลตรวจน่าจะออกมาภายใน 1-2 วันนี้ แต่ตัวสารหนูมีน้ำหนัก สามารถตกตะกอนและจมลงได้ หากมีผลกระทบที่เชียงรายก็อาจน้อย แต่เพื่อเป็นการไม่ประมาท หากคนลงเล่นน้ำก็พยายามหลีกเลี่ยงการกลืนหรือกิน หากรู้สึกว่ามีอาการแสบก็รีบไปพบแพทย์
ด้าน น.ส.สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบทางสุขภายโดยชุมชน ( Community Health Impact Assessment Platform หรือ CHIA Platform) ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษข้ามพรมแดน กล่าวว่าจากการติดตามข้อมูลการทำเหมืองทองที่ต้นแม่น้ำกก การตรวจพบสารหนูในแม่น้ำกกครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องเกินคาด ที่สำคัญหลังจากนี้ต้องตรวจสารปรอท โดยจับปลานักล่าในแม่น้ำกกมาตรวจการสะสมของสารปรอท ซึ่งหากมีการตรวจพบก็ต้องมีการสื่อสารความเสี่ยงแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนระมัดระวังตัว
สารปรอทจะพัดพาไปได้ไกลขนาดไหน ต้องดูระบบนิเวศลำน้ำกก ซึ่งควรเก็บตัวอย่างตะกอนดินในลำน้ำกกตลอดลำน้ำจนถึงเมืองเชียงราย และดูความเข้มข้นในพื้นที่ต่างๆ “ในขณะที่เรายังจัดการแหล่งกำเนินมลพิษไม่ได้ เราก็ต้องแจ้งให้ประชาชนทราบและป้องกัน” น.ส.สมพร กล่าว
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้กล่าวถึงกรณีนี้ว่า จากผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำที่มีสารหนูปนเปื้อนเป็นจำนวนมากเกินกว่ามาตราฐานนั้น ทางฝ่ายบริหหารส่วนท้องถิ่น ระหว่างรัฐต่อรัฐควรจะต้องมีการพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะต้องเชิญฝ่ายบริหารของรัฐว้าที่เป็นเจ้าของพื้นที่เหมืองทอง ที่อยู่ต้นแม่น้ำกก และอาจจะต้องขอให้กระทรวงการต่างประเทศเข้ามาเป็นตัวแทนในการพูดคุย เพื่อหาทางออก โดยใช้แผนการปฏิบัติของกรมประมงของไทยเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเราก็เข้าใจว่ารัฐว้าอยู่นอกเหนือกฎหมายของไทย แต่การใช้หลักการของกรมประมงในไทยอาจจะเป็นต้นแกบบแล้วนำมาแก้ไขให้เหมาะกับทั้ง 2 ประเทศ เพื่อให้แม่น้ำกกกลับมามีสภาพที่ปลอดภัยกับคลลุ่มแม่น้ำ
“ในส่วนของการแจ้งเตือนเครือข่ายลุ่มแม่น้ำกก ที่มีทั้งชาวประมงท้องถิ่น กลุ่มเกษตรริมแม่น้ำ ที่อาศัยแม่น้ำกก ในการหาเลี้ยงชีพ ก็มีการพูดคุยและกำลังหาแนวทางในการปรับตัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าว
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.