มฟล. ใช้ธนาคารขยะ ฝึกนักศึกษาเรียนรู้การดูแลโลก

19

11 จินต์จุฑา ประสานพันธ์-เกษนภา บำรุงสุข-นัสธช สุขเกื้อ-ศศนันท์ ชนิเลิศกุญชร

          “ธนาคารขยะ” (MFU Dormitory Waste Bank) เป็นอีกหนึ่งโครงการตามแนวนโยบายการจัดสรรสภาพแวดล้อม ให้เหมาะสมกับการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ ทั้งในด้านความสวยงาม สิ่งอำนวยความสะดวก การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า การใช้ขนส่งมวลชนปลอดมลพิษ ที่ได้ทำต่อเนื่องมาโดยตลอด รวมถึงการจัดการขยะรีไซเคิลของธนาคารขยะ ที่สามารถตอบโจทย์ได้ในหลายมิติ ทั้งปลูกจิตสำนึกการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และยังได้ฝึกกระบวนการทำงานของนักศึกษา ที่เปรียบเสมือนได้ลงมือปฏิบัติจริงในบริษัทเล็กๆ ที่มีหัวใจรักษ์โลกใบใหญ่

       นางสาวจินต์จุฑา ประสานพันธ์ (ฝัน) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการบริการ สำนักวิชาการจัดการ เธอคนนี้ทำหน้าที่ทั้งเป็นกรรมการหอพัก และเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารขยะด้วย

        จินต์จุฑา บอกเล่าถึงความเป็นมาของธนาคารขยะ มฟล. ว่าจำนวนนักศึกษาและบุคลากรที่พักอาศัยอยู่ในหอพักมหาวิทยาลัยมีมากกว่า 5 พันคน ดังนั้นจึงเกิดขยะเป็นจำนวนมากตามมา และในขยะเหล่านี้มีวัสดุรีไซเคิลที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หากทำการคัดแยกอย่างถูกวิธีก็จะเป็นลดจำนวนขยะที่ไร้ค่า และเป็นการง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล

       “ธนาคารขยะเป็นกิจกรรมปลูกจิตสำนึกให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อม ผ่านการคัดแยกขยะรีไซเคิลภายในหอพัก อีกด้านหนึ่งสำหรับนักศึกษาที่เป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารขยะก็จะได้ฝึกกระบวนการทำงาน เหมือนเราเป็นพนักงานบริษัทที่ต้องรับผิดชอบงานของตัวเองอย่างเต็มที่ นับตั้งแต่การเริ่มประชาสัมพันธ์โครงการ ไปจนถึงรายงานผลการดำเนินงาน เมื่อนักศึกษานำขยะรีไซเคิลมาฝาก ต้องมีความรู้ประเภทของขยะแต่ละชนิด การจัดทำบัญชี ขยะที่ฝากจะสามารถสะสมเป็นจำนวนเงินหรือสะสมเป็นชั่วโมงกิจกรรมก็ได้ นอกจากนี้ยังแลกเป็นของกินของใช้ได้ด้วย เช่น สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ขนม ไข่ไก่ บะหมี่ถึงสำเร็จรูป ถึงจะเป็นของเล็กๆ น้อยๆ แต่ผลที่ได้รับคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับโลกของเรา” จินต์จุฑา กล่าว

        นางสาวเกษนภา บำรุงสุข  นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว สำนักวิชาการจัดการ กรรมการหอพัก เจ้าหน้าที่ธนาคารขยะเล่าถึงงานของเธอว่า เมื่อนักศึกษานำขยะมาฝาก อย่างแรกต้องตรวจดูความเรียบร้อย ว่าขยะรีไซเคิลทำความสะอาดมาหรือยัง คัดแยกประเภทได้ถูกต้องหรือไม่ เพราะเวลานำไปขายต่อก็จะได้ราคาดี จากนั้นก็ทำการชั่งน้ำหนัก จดบันทึกและคำนวณราคาหรือชั่วโมงตามที่ผู้ฝากต้องการ ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนหรือราคาขยะจะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงทุกสัปดาห์  ตอนนี้รับฝากอยู่สามชนิดคือ พลาสติก กระป๋องอลูมิเนียม และกระดาษ ซึ่งเป็นของที่นักศึกษาส่วนใหญ่ใช้อยู่แล้ว และยังสามารถจัดเก็บได้ง่าย

        “หลายคนพูดว่าเราต้องช่วยลดโลกร้อน แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง การเอาขยะใส่ถุงรวมๆ กันไปทิ้งมันง่ายมาก แต่มันไม่ช่วยอะไร ถ้าหากเรายอมเสียเวลาอีกนิดเพื่อจัดการคัดแยก มันไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไรเลย และทำให้กระบวนการนำไปรีไซเคิลง่ายขึ้น ขยะที่ไร้ประโยชน์จะลดลง สิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้น ตอนนี้นักศึกษาให้ความสนใจโครงการนี้มาก ทุกวันศุกร์หลายคนรอธนาคารเปิด นับเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวนักศึกษา และการดูแลโลกก็สามารถทำได้จริงด้วยมือเล็กๆ ของเราทุกคน” เกษนภา กล่าว

        ด้านผู้ใช้บริการธนาคาร นางสาวนัสธชา สุขเกื้อ (น้ำข้าว) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการบริการ สำนักวิชาการจัดการ เธอเล่าว่ามาเข้าร่วมโครงการเพราะเพื่อนชวน โดยปกติแล้วขยะที่เธอเก็บไว้ฝากจะเป็นขวดน้ำที่ดื่มบ่อยๆ และกระดาษชีทที่ไม่ได้ใช้แล้ว เธอบอกว่าการคัดแยกขยะไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย ไม่ต้องใช้เวลาหรือพื้นที่มากมาย แค่แยกใส่ถุงหรือกล่องตามแต่ละชนิด เมื่อผ่านไป 2-3 เดือนก็ได้จำนวนมากพอที่จะแลกเป็นเงินหรือแลกชั่วโมงกิจกรรม ถือเป็นโครงการดีๆ ที่นักศึกษาหอพักสามารถทำได้ง่ายๆ และอยากให้จัดโครงการต่อไปเรื่อยๆ เพราะถือว่าได้ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย

      ส่วน นางสาวศศนันท์ ชนะเลิศกุญชร (แอนนา) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการบริการ สำนักวิชาการจัดการ เธอเล่าว่าสำหรับนักศึกษาทุนอย่างเช่นเธอ สามารถนำขยะรีไซเคิลมาฝากเพื่อแลกกับชั่วโมงบำเพ็ญประโยชน์ได้ด้วย เพราะถือเป็นหน้าที่อีกอย่างหนึ่งของนักศึกษาทุน ที่ต้องร่วมสร้างประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัย สมกับที่ได้รับโอกาสในการศึกษา

      “มฟล. เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว นอกจากที่เราจะปลูกต้นไม้กันทุกปีแล้ว ธนาคารขยะก็เป็นส่วนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยส่งเสริมให้นักศึกษาได้ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ถ้าพูดว่าช่วยดูแลโลกอาจจะไกลตัว แต่ที่จริงคือสิ่งที่เราทำรวมกันมันช่วยโลกให้ดีขึ้นได้ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ดีกว่าเราทำเฉยแล้วไม่เริ่มต้นทำอะไรเลย ถ้ามองแบบใกล้ตัว ขยะที่เอาไปฝากสามารถถอนออกมาเป็นเงินได้ เอาไปแลกขนมกินก็ได้ มันเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากเกินถ้าเราตั้งใจ หากเราทำได้แล้ว อย่าลืมชวนเพื่อนทำด้วยนะคะ เพราะถ้าเราจับมือกันก็จะไปถึงจุดหมายไดเร็วขึ้นค่ะ” ศศนันท์ กล่าวปิดท้าย

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.