องค์การบริหารส่วนจังหวัด กับ 18 หมู่บ้านต้นแบบ ขับเคลื่อน โครงการ 18 อำเภอ 18 ต้นแบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืน
องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ได้เล็งเห็นความสำคัญในการจัดการขยะของจังหวัดเชียงราย จึงจัดทำ “โครงการ 18 อำเภอ 18 ต้นแบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืน” เพื่อสร้างหมู่บ้านต้นแบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืน 1 อำเภอ 1 หมู่บ้าน ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยได้รับความร่วมมือจาก สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย และทุกภาคส่วนราชการของจังหวัดเชียงราย เพื่อช่วยส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมการจัดการขยะในพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย ประจำปี 2559 โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ได้วางแนวทางในการส่งเสริมกิจกรรม และดำเนินกิจกรรมหมู่บ้านต้นแบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืนอำเภอ ละ 1 หมู่บ้าน ต้นแบบ โดยเน้นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของแต่ละอำเภอ อบรมให้ความรู้การจัดการบริหารขยะด้วยตนเองภายในครัวเรือน และจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมมือกันในการดำเนินโครงการระดับจังหวัด
ในการนี้ นายบรรเจิด ภูสมศรี รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด รักษาราชการแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปฏิบัติหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในนามคณะทำงาน โครงการ 18 อำเภอ 18 หมู่บ้านต้นแบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ขอขอบคุณองค์การบริหารส่วนตำบล กำนันผู้ใหญ่บ้าน และแขกผู้มีเกียรติ ทั้ง 18 อำเภอ ที่ให้เกียรติมา ณ เวทีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมมือกัน ในการดำเนินโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน การคัดแยกขยะอย่างยั่งยืนทั้ง 18 อำเภอ เพื่อสร้างหมู่บ้านต้นแบบการจัดการขยะ อย่างยั่งยืน อำเภอละ 1 หมู่บ้าน ได้มีการคัดเลือกหมู่บ้าน เศรษฐกิจพอเพียง ในแต่ละอำเภอ โดยคัดเลือกจากสำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดเชียงราย จำนวน 18 หมู่บ้าน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย นายอำเภอ ทุกอำเภอ พัฒนาการทุกอำเภอ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย ประธานวัฒนธรรม จังหวัดเชียงราย ประธานกลุ่มพัฒนาสตรีอำเภอ ประธาน อสม.อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และประธานกรรมการ บริษัท กรีนเทค เอนไวรอนเม้นท์ จำกัด มาร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมในหมู่บ้านต้นแบบ ให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ช่วยกันดำเนินกิจกรรมการบริหารจัดการขยะให้เกิดความยั่งยืน และเป็นต้นแบบเพื่อขยายผลให้หมู่บ้านอื่นที่ใกล้เคียงในอำเภอนั้น โดยมีเกณฑ์ในการดำเนินการ โดยให้ทุกครัวเรือน มีจุดคัดแยกขยะและภาชนะรองรับแต่ละประเภทชัดเจน และปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ให้ทุกครัวเรือนทำ “เสวียน” อย่างน้อยครัวเรือนละหนึ่งอัน ซึ่ง “เสวียน” เป็นสิ่งประดิษฐ์พื้นบ้านที่ทุกครัวเรือนสามารถทำขึ้นเองได้ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถแก้ไขปัญหาขยะอินทรีย์ออกจากระบบและยังช่วยลดการเผาในฤดูแล้งสามารถแก้ไขปัญหาหมอกควันได้ และเป็นเส้นทางในการเข้าสู่ชุมชน การสร้างวัฒนธรรมสังคมปลอดขยะได้ในลำดับต่อไป
นับว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ทุกคนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการจัดการขยะ ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ และวันนี้จังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการมาถูกทางแล้ว จากการนำทีมโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และทุกหน่วยงานที่เข้ามาร่วมกันที่จะมาเป็นกำลังแก่ประชาชนในทุกครัวเรือนในหมู่บ้าน ต้นแบบทั้ง 18 อำเภอ ที่ได้รับเลือกเป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะ โดยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น (เสวียน) มาแก้ไขปัญหาขยะ ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายร่วมกันและช่วยกันบริหารจัดการขยะในแต่ละครัวเรือนได้ ขยะก็จะไม่เป็นปัญหา ในท้องถิ่น และทุกท้องถิ่นสามารถดำเนินกิจกรรมบริหารจัดการขยะได้ด้วยตนเอง และยังสามารถประหยัดงบประมาณในการกำจัดขยะ ที่ปลายเหตุของจังหวัดเชียงรายได้
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.