คืนวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมานายประจญ ปรัชญ์สกุล รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ปลานิลถิ่นล้านนา” โครงการเสริมสรางศักยภาพการผลิตปลานิลถิ่นล้านนาสู่สากลและโครงการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ณ ตลาดบ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย โดยงานจะมีไปถึงวันที่ 2 เม.ย.นี้ โดยนายวิสูตร ศศิวิมล ประมง จ.เชียงราย นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมเกษตรผู้เลี้ยงและแปรรูปผลผลิตปลานิลเข้าร่วมงานโดยครบครัน ภายในงานจัดให้นิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของปลานิล การจัดแสดงปลานิลตัวใหญ่ การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารจากปลานิลในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ดี การประกวดทำอาหารจากปลานิล เช่น ลาบ ฯลฯ ขณะที่ปลานิลที่มีการแปรรูปไปจำหน่ายพบว่าได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวงามอย่างมาก โดยเฉพาะไส้อั่วปลานิลที่มีรสชาดอร่อยและยังเป็นที่นิยมของผู้ที่ต้องการบริโภคอาหารประเภทปลามากกว่าเนื้อสัตว์อื่น นอกจากนี้ยังมีปลานิลเส้นปรุงรส ปลานิลแดดเดียวและอื่นๆ อีกมากมาย
นายประจญ กล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานปลานิลให้กรมประมงนำไปเพาะขยายพันธุ์และแจกจ่ายให้เกษตรกรเพื่อเลี้ยงเป็นอาหารโปรตีนประจำครัวเรือนตั้งแต่ปี 2509 กระทั่งปัจจุบันปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาก็มีอายุครบรอบ 50 ปีแล้ว ปัจจุบันการเลี้ยงปลานิลได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศสร้างมูลค่าเพิ่มนับหลายหมื่นล้านบาท ขณะที่ จ.เชียงราย ถือเป็นแหล่งเลี้ยงปลานิลที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือจึงเรียกปลานิลที่เลี้ยงได้ว่าปลานิลถิ่นล้านนา ทำให้ทางจังหวัดได้ส่งเสริมการเลี้ยงอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและส่งเสริมตลาดปลานิลให้เป็นที่รู้จัก รวมทั้งยังเพื่อเตรียมการทำกาตตลาดสู่ตลาดสากลต่อไปด้วย
นายวิสูตร กล่าวว่าปัจจุบันมีพื้นที่เลี้ยงปลานิลที่ จ.เชียงราย รวมกันประมาณ 7,000 ไร่ มีเกษตรกรร่วม 2,000 คน ผลผลิตปีละไม่ต่ำกว่า 16,000 ตัน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 800 ล้านบาทต่อปี ตลาดที่ปลานิลเชียงรายส่งไปจำหน่ายมีทั้ง 6 จังหวัดภาคเหนือคือเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ และพะเยา รวมไปถึงประเทศเมียนมาและ สปป.ลาว ด้วย
ด้านนายฐิติพงศ์ ไชยองค์การ รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และนักธุรกิจเลี้ยงปลานิลที่ อ.พาน กล่าวว่าปัจจุบันเกษตรกรหันมาเน้นการแปรรูปปลานิลเพื่อเพิ่มมูลค่านอกเหนือไปจากการส่งจำหน่ายสด เพราะด้วยน้ำหนักที่เท่ากันสามารถมีราคาที่แพงกว่าได้โดยแนวโน้มตลาดจะส่งไปยังทั้งภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 2 ประเทศเช่นเดิม สำหรับการที่การเลี้ยงปลานิลที่ อ.พาน สามารถทำได้ยั่งยืนยาวนานและประสบความสำเร็จเพราะเกษตรกรมีความรักในอาชีพนี้และสภาพของดินและน้ำเอื้ออำนวยโดยไม่มีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำส่วนดินก็ไม่มีสาหร่ายที่ทำให้ปลาเหม็นกลิ่นโคลนด้วยดังนั้นอนาคตของตลาดปลานิลทั้งสดและแปรรูปยังสดใส.
By//เชียงรายรีพอร์ต///
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.