ชาวนิคมโรคเรื้อนขอสิทธิลูกหลานหลังยกที่ให้กรมธนารักษ์

233
2
วันที่ 8 ก.ย.59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่อาคารสำนักงานกองทุนหมู่บ้านห้วยหลวง ม.1 ต.ธารทอง อ.พาน จ.เชียงราย สมาชิกชาวนิคมแม่ลาวและญาติที่เกี่ยวข้องประมาณ 100 คน ได้ไปจัดประชุมกันเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิในการอาศัยอยู่ภายในนิคมแม่ลาว เนื่องจากในปัจจุบันมีการถ่ายโอนความรับผิดชอบพื้นที่นิคมแม่ลาวซึ่งถูกจัดสรรให้กับผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคเรื้อนมาตั้งแต่ปี 2478 ปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 6,456 ไร่ จากกรมควบคุมโรคให้ไปอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ ทำให้สมาชิกภายในนิคมเกรงว่าจะสูญเสียสิทธิที่เคยได้รับและคนรุ่นลูกหลานจะประสบความเดือดร้อนจากการถ่ายโอนความรับผิดชอบระหว่างหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมมีมติว่าจะมีการจัดทำเป็นหนังสือร้องทุกข์และจะนัดหมายไปยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้คำตอบต่อไป
นายนราวิทย์ คำเงิน ชาวนิคมแม่ลาว กล่าวว่านิคมแม่ลาวดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยทำกินของผู้ป่วยโรคเรื้อนที่รัฐได้กันพื้นที่ป่าเอาไว้ให้อยู่อาศัยและบุกเบิกทำกินมานานกว่า 80 ปีแล้วปัจจุบันคงเหลือสมาชิกที่มีชีวิตอยู่จำนวน 110 คน และมีรุ่นลูกหลานปลูกบ้านเรือนและทำกินในเนื้อที่ดังกล่าวเฉลี่ยรายละไม่เกิน 10 ไร่ตามกำลังความสามารถ ซึ่งจากการที่มีประชากรมากขึ้นและชุมชนขยายตัวทำให้ภายในนิคมมีหมู่บ้านอยู่ด้วยกันจำนวน 2 หมู่บ้านคือ ม.1 และ ม.11 ต.ธารทอง มีประชากรรวมกันประมาณ 500 กว่าคน โดยถือเป็น 1 ใน 11 นิคมโรคเรื้อนที่รัฐให้การช่วยเหลือไว้ทั่วประเทศภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิราชประชาโดยผู้ป่วยจะได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 4,500 บาท และให้ทางมูลนิธิรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น อาชีพ ที่อยู่อาศัย ฯลฯ
นายนราวิทย์ กล่าวอีกว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่เคยเกิดปัญหากระทั่งปี 2555 ได้มีการถ่ายโอนพื้นที่ไปอยู่กับกรมธนารักษ์ทำให้มีการเก็บค่าเช่าที่ดินจากผู้อยู่อาศัย และประชาสัมพันธ์ว่าหากผู้ป่วยคนใดออกจากนิคมแม่ลาวก็จะได้รับสิทธิเพิ่มเติมเป็นเงินค่าอาหาร ค่าสงเคราะห์และค่าผู้สูงอายุ ลักษณะเหมือนจะให้ยุบนิมแม่ลาวและให้ไปตั้งเป็นชุมชนพึ่งพาตัวเองซึ่งพวกตนเห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะผู้ที่ไปอยู่แต่เดิมล้วนเป็นผู้ป่วยที่พึ่งตัวเองไม่ได้และคนในสังคมอดีตไม่ค่อยให้การยอมรับทำให้ต้องไปบุกเบิกอยู่ในพื้นที่ป่าเขาห่างไกลดังกล่าว กระทั่งปัจจุบันมีการจับจองพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยถึงรุ่นลูกหลานจึงควรแก้ไขปัญหาด้วยวิธีอื่นมากกว่าให้ยุบนิคมไปเลย เช่น ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไปดูแล คงความเป็นนิคมแม่ลาวเอาไว้ต่อไป เป็นต้น
ด้านนายคเชนทร์ บุญมีลาภ กล่าวว่าปัจจุบันเจ้าหน้าที่มีลักษณะเหมือนต้องการยุบนิคมแม่ลาวอย่างเป็นทางการออไปเสีย ทำให้พวกตนไม่มั่นใจในสิทธิที่เคยได้รับและอยากได้คำตอบที่ชัดเจนจากภาครัฐว่าจะดำเนินการกับนิคมแม่ลาวแห่งนี้อย่างไรต่อไป ทั้งนี้ภายในใจของพวกตนคือไม่อยากให้ยุบนิคมแม่ลาวและสงสัยว่าสิทธิต่างๆ ที่จะได้รับหากว่าต้องออกจากนิคมไปจะเป็นอย่างไร
นางมาเรีย พรมเต็ม ชาวนิคมแม่ลาวอีกคนกล่าวว่าที่ผ่านมาเคยยื่นร้องทุกข์ไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี ทหาร ศูนย์ดำรงค์ธรรม จ.เชียงราย ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนและกลับได้รับหนังสือแจ้งจากกรมธนารักษ์ให้ไปเสียค่าเช่าที่ดินที่อยู่อาศัยทำกินเสียอีก ทำให้พวกตนมีความกังวลและทุกข์ใจในอนาคตอย่างมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติให้จัดทำหนังสือมีเนื้อหาเรียกร้องเรื่องพื้นที่ทำกินเพื่อให้สิทธิแก่ผู้ป่วยและทายาทภายในนิคมแม่ลาว และเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชนกรณีสิทธิต่างๆ ที่ได้รับรับให้คงอยู่ต่อไป ขณะเดียวกันนำเสนอผลดีของการมีชุมชนนิคมแม่ลาวว่าสามารถปกป้องดูแลป่าในพื้นที่ได้เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อเป็นนิคมแม่ลาวชาวบ้านจะช่วยกันดูแลรักษาป่าในเขตนิคมโดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปดูแล แต่หากไม่มีชุมชนนี้แล้วก็เสี่ยงต่อการถูกบุกรุกโดยพบเห็นกลุ่มทุนได้เข้าไปติดต่อกับชาวบ้านบางส่วนเพื่อจะเข้าไปบุกรุกพื้นที่กรณีไม่มีนิคมแห่งนี้แล้ว.

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.