เวียงเหนือจับมือราชภัฏฯ.แก้เด็กทะลักเรียนเมือง จัดโรงเรียนเพื่อท้องถิ่น

17

P_20170622_111203

ที่ห้องประชุมเทศบาล ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ดร.ศรชัย มุ่งไทธง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) นายสันติ์ ศรียา นายกเทศมนตรี ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย พร้อมด้ย ดร.ไพโรจน์ ด้วงนคร รองอธิการบดี นายณัฐวิทย์ นภาลัย ผอ.โรงเรียนเทศบาล ต.เวียงเหนือ (ค่ายเจริญ) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือหรือเอ็มโอยูทางวิชาการ ระหว่าง มร.ชร.กับเทศบาล ต.เวียงเหนือ เพื่อร่วมพัฒนาการศึกษาท้องถิ่นที่โรงเรียนเทศบาล ต.เวียงเหนือ (ค่ายเจริญ) ซึ่งพึ่งมีการถ่ายโอนการบริหารงานจากเขตพื้นที่การศึกษาเชียงรายเขต 1 ไปอยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลโดยหลังการลงนามเอ็มโอยูทั้ง 2 องค์กรจะร่วมกันพัฒนาโรงเรียนเพื่อรองรับการศึกษาในพื้นที่ต่อไป
นายสันติ์ กล่าวว่าพื้นที่เวียงเหนือตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 15 กิโลเมตรใช้ระยะเวลาเดินทางถึงกันประมาณ 15 นาที ทำให้ในยุคปัจจุบันประชาชนมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยมีการส่งบุตรหลานไปเรียนตามสถานศึกษาต่างๆ ในเขต อ.เมือง เป็นจำนวนมากโดยใช้รถตู้รับส่งนักเรียนที่มีมากขึ้นในพื้นที่กว่า 30 คันแล้ว วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปหลายเรื่อง เช่น พ่อแม่และเด็กต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อรับส่งบุตรหลาน ฯลฯ ขณะที่พ่อแม่ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมดังนั้นหลังรับการถ่ายโอนโรงเรียนทางเทศบาลจึงได้พยายามแสวงหาการพัฒนาเพื่อให้มีสถานศึกษารองรับในท้องถิ่นโดยร่วมมือกับทาง มร.ชร.ดังกล่าว
ดร.ศรชัย กล่าวว่า มร.ชร.เป็นมหาวิทยาลัยของท้องถิ่นจึงถือว่าเอ็มโอยูดังกล่าวเป็นแนวทางการดำเนินการของ มร.ชร.และตรงกับนโยบายการพัฒนาประเทศไทยพอดี ดังนั้นหลังมีเอ็มโอยูแล้วการพัฒนาระหว่างมหาวิทยาลัยและเทศบาล ต.เวียงเหนือ จะมี 3 มิติคือ 1.คณะใน มร.ชร.ที่จะคอยประสานงานซึ่งจะให้สำนักวิชาสังคมศาสตร์ทำหน้าที่รับผิดชอบทุกมิติโดยเฉพาะประสานกับสำนักวิชาคุรุศาสตร์หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาการศึกษาที่ ต.เวียงเหนือ ต่อไป 2.นโยบายการขับเคลื่อนเราจะเน้นเรื่องเศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะพบว่า ต.เวียงเหนือ มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ต่างๆ ซึ่งทาง มร.ชร.จะสนับสนุนด้านวิชาการ การเพิ่มมูลค่า การตลาด ฯลฯ และ 3.ด้านคุณภาพชีวิตซึ่งจะมีการดำเนินการร่วมกันเป็นเรื่องๆ ต่อไป
ดร.นาวิน พรมใจสา ผอ.กองมาตรฐานวิการและประกันคุณภาพ มร.ชร.กล่าวว่าเชียงรายเป็นเมืองยุทธศาสตร์เชื่อมโยงกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงทำให้จะมีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นมากมายทั้งสายการบินเพิ่มมากขึ้น ถนน รถไฟ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ฯลฯ ขณะที่เยาวชนซึ่งจะเป็นทรัพยากรบุคคลภายในพื้นที่พบว่าเกิดภาวะการเข้าไปเรียนในตัวเมืองมากขึ้นอย่างแออัด แต่พบว่าเด็กบางส่วนขาดทักษะในการใช้ชีวิตประจำวันและไม่มีพื้นฐานด้านวัฒนธรรมประเพณีหรือวิถีชีวิตในท้องถิ่นของตน ดังนั้นความร่วมมือระหว่าง มร.ชร.และเทศบาล ต.เวียงเหนือ จึงถือเป็นการนำร่องหรือเริ่มต้นด้วยการจะเพิ่มหลักสูตรพื้นฐานที่เดิมประเทศไทยมีอยู่ 8 หลักสูตร เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ฯลฯ ก็จะมีหลักสูตรที่ 9 คือหลักสูตรท้องถิ่นให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ด้วยโดยร่วมกับชาวบ้านในท้องถิ่นในการร่วมกันจัดการเรียนการสอน เบื้องต้นคาดว่าเมื่อผ่านพ้นไป 3 ปีจะเห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป.

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.