อาคม ลงพื้นที่ขับเคลื่อนรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงของ เชื่อมเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว

20

เวลา 09.00 น.วันที่ 9 ส.ค.61 ที่ ห้องยูโทเปีย โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงราย รีสอร์ท นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงาน สัมมนาสร้างการรับรู้และความเข้าในโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาโครงการฯ พร้อม รับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยมีนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการถไฟแห่งประเทศไทย นายสมบูรณ์ ศิริเวช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และผู้ที่สนใจเข้าร่วมเข้าร่วมงานกว่า 400 คน

โดยภายในงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ได้กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “กระทรวงคมนาคมกับการขับเคลื่อน จังหวัดเชียงราย มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวนโยบาย ในการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งในภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะระบบรางที่จะเข้ามา มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือ รวมไปถึงการเชื่อมโยงภูมิภาค และการค้าระหว่างประเทศ ก่อนจะมีการเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองจากภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย ในหัวข้อ“ภาคเหนือเร่งเครื่อง เดินหน้า คว้าโอกาส…รถไฟสายใหม่ เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ”

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นหนึ่งในแผนงานของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 และล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการก่อสร้างเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงเร่งรัดโครงการให้แล้วเสร็จได้ ในปี 2566 จากเดิมที่จะแล้วเสร็จในปี 2568 ด้วยมูลค่าโครงการ 85,345 ล้านบาท โดยโครงการฯ มีจุดเริ่มต้นที่สถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ มุ่งไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และสิ้นสุดที่ด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย รวมระยะทาง 323.10 กม. มีสถานีทั้งสิ้น 26 สถานี ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง โดยมีลานขนถ่ายสินค้าจำนวน 4 แห่ง และย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อด่านชายแดนเชียงของ

โดยโครงการนี้ มีจุดเด่นที่สำคัญคือเป็นโครงการที่ก่อสร้าง โดยไม่มีจุดตัดทางแยกรถไฟเพื่อเพิ่มความปลอดภัย โดยมีการออกแบบรั้วกั้นเขตแนวสายทางของการรถไฟฯ และออกแบบสะพานรถไฟ สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ ทางรถยนต์ลอดรถไฟ ทางเชื่อมรวมและกระจายจราจร ตลอดจนสะพานลอย ทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ข้ามและ ลอดทางรถไฟ รวมประมาณ 254 จุด ตลอดแนวเส้นทาง และยังมีอุโมงค์คู่ตามแนวเส้นทางที่พาดผ่านพื้นที่ภูเขา รวมระยะทางประมาณ 13.9 กม. เพื่อให้สามารถเพิ่มระดับ ความเร็วในการเดินทางขนส่งได้อย่างปลอดภัยด้วย ทั้งนี้ เมื่อโครงการนี้ ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2566 จะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 5,600 คน/วัน และรองรับได้ถึง 9,800 คน/วัน

และคาดการณ์ว่าในปี 2595 จะสร้างอัตราการเติบโตของผู้โดยสารได้ถึงร้อยละ 1.95 ต่อปี และอัตรา การเติบโตของสินค้าประมาณร้อยละ 4.65 ต่อปี นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง 413,417 ทีอียูต่อปี ในปี 2566 และเพิ่มเป็น 951,955 อีทียูต่อปี ในปี 2595 ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตของมูลค่าการนำเข้า-ส่งออก ผ่านด่าน
เป็นร้อยละ 30-40 ต่อปี โครงการนี้จึงเป็นเส้นทางสำคัญเพื่อเชื่อมเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟของ สปป.ลาว ที่จะมุ่งตรงสู่เมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน และยังสามารถขนถ่ายสินค้าออกสู่ทะเลทางท่าเรือแหลมฉบังได้ด้วย รองรับนโยบายจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย (SEZ) เป็นการเติมเต็มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมของไทยให้สมบูรณ์ และเป็นการพลิกโฉมจังหวัดเชียงรายให้เป็น Logistics City ของภูมิภาคในอนาคต

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.