ปภ.ลำปาง เผยมาตรการการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ”

49

นางสาวณปภัช ปัญญาศิริกุล ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดลำปาง ได้ดำเนินการเตรียมการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2567 โดยใช้กรอบแนวทางในการดำเนินการตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567 มุ่งเน้นการบริหารจัดการในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach) เพื่อควบคุมและลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งด้านคน ถนน ยานพาหนะ และสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด และให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางทุกมิติ ด้วยการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ ดำเนินงานอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง รวมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน หมู่บ้าน อาสาสมัครต่าง ๆ และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 จังหวัดลำปาง

  1. มาตรการด้านการบริหารจัดการ โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และศูนย์ประสานการปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขา
    การลดปัจจัยเสี่ยง โดยใช้กลไกท้องที่ควบคุมและดำเนินการมาตรการเชิงรุก “เคาะประตูบ้าน”เพื่อสอดส่อง ดูแล ป้องปราม และตักเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบูรณาการร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครและจิตอาสาในพื้นที่ จัดตั้ง “ด่านชุมชน” ในพื้นที่จังหวัดลำปาง 13 อำเภอ
    การจัดกิจกรรมทางศาสนา “1 อำเภอ 1 กิจกรรม”เช่น ทำบุญตักบาตร “สวดมนต์ข้ามปี”หรือกิจกรรม ตามแต่ละศาสนา เพื่อดึงประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมและลดความเสี่ยงในการก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
    มาตรการความปลอดภัยทางน้ำ โดยตรวจสอบความปลอดภัยของเรือ แพ โป๊ะเทียบเรือ อุปกรณ์ชูชีพ ห่วงชูชีพ สัญญาณไฟ ถังดับเพลิง ไฟส่องสว่าง ในพื้นที่อำเภอเมืองลำปาง และอำเภอแจ้ห่ม ที่มีกิจการล่องแพ ของบริษัท/ เจ้าของเอกชน ดำเนินการ
  2. มาตรการการลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม ให้ถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกเส้นทางเป็นถนนปลอดภัย โดยบูรณาการร่วมกับตำรวจ หน่วยงานทหารในพื้นที่ ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัด จริงจัง และต่อเนื่อง จัดทำป้ายเสริม ป้ายแนะนำ ป้ายทางลัด ป้ายแนะนำจุด Black Spot (จุดกลับรถ) จุดเสี่ยง จุดอันตราย จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จัดจุดพักรถ และจุดบริการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
  3. มาตรการการลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ กำกับ ควบคุม ดูแลรถโดยสารสาธารณะ รถโดยสารไม่ประจำทาง พนักงานขับรถโดยสาร และพนักงานประจำรถให้ถือปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายอย่างเคร่งครัด
  4.  มาตรการด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย กำหนดจุดตรวจร่วมบูรณาการ ใน 13 อำเภอ โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีเครือข่าย ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการจัดตั้งจุดตรวจ/ ด่านตรวจร่วม โดยเน้นการบังคับใช้กฎหมาย
  5. มาตรการด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ จัดเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยกู้ชีพกู้ภัย ยานพาหนะ เครื่องมือ อุปกรณ์ การสั่งการ ระบบสื่อสารการรับแจ้งเหตุ และดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน จัดเตรียมเลือดสำรองเพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดความต้องการเลือดเร่งด่วน

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.