ผู้ป่วยทางจิต แน่น รพ.ฯ หลังรัฐเข้มงวดตรวจจับ นำผู้เสพเป็นผู้ป่วยเข้าบำบัดรักษา พบขอนแก่นเข้ารับการรักษามากที่สุด
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 22 มี.ค. 2567 ที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดยาเสพติดในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง รพ.ฯมีผู้เข้ารับการรักษา 1,700 ราย ผู้ป่วยที่มารักษาการที่โรงพยาบาลจะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนักที่มีอาการทางจิตถึงถูกส่งเข้ามา ถ้าเป็นรายที่อาการไม่หนักอาจจะไปรักษาที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์หรือโรงพยาบาลอื่นๆได้
” ใน 5 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณตั้งแต่ ต.ค.2566-ก.พ.2567 พบว่ามีผู้ป่วยที่เข้ามารับการบำบัดแบ่งออกเป็นผู้ป่วยนอก 4,238 ราย ครอบคลุม 4 จังหวัด คือขอนแก่น ,มหาสารคาม, ร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์ จากข้อมูลพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการใช้สารกระตุ้นระบบประสาทหรือยาบ้า 1,973 ราย สารเสพติดหลายขนาน 1,787 ราย แอลกอฮอล์ 742 ราย และจากข้อมูลการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตในขอนแก่นพบว่า มีจำนวน 1,700 กว่าราย ซึ่งถือเป็นยอดครึ่งหนึ่งของผู้ที่เข้ารับการรักษา”
นพ.ธรณินทร์ กล่าวต่ออีกว่า เฉพาะขอนแก่นพบ 5 อำเภอที่มีผู้ติดสารเสพติดที่มารับการรักษามากที่สุดประกอบด้วย อำเภอเมือง 430 คน ,น้ำพอง 140 คน,กระนวน 127 คน, บ้านฝาง 101 คน และ อ.หนองเรือ 74 คน โดยเฉพาะช่วงมีการกวดขันตามนโยบายช่วงนั้นผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้นตรวจพบมากขึ้นในพื้นที่และส่งมาที่ รพ.จิตเวช ช่วงที่เยอะเตียงอาจจะไม่เพียงพอเพราะผู้ป่วยต้องใช้เวลารักษาตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ จะรักษาจนอาการทางจิตหายไปและจะส่งกลับไปยังชุมชนเข้าสู่กระบวนการบำบัดชุมชนตามนโยบายของทางกระทรวงสาธารณสุข
“หลังจากที่ขอนแก่นจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติดช่วยแบ่งเบาภาระของ รพ.จิตเวชได้มากน้อยแค่ไหน ณ ขณะนี้ยังไม่ได้ออกผลอได้ยังไม่เต็มที่ เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นของการดำเนินการของขบวนการนี้อยู่ การบำบัดในชุมชนนี้จะดำเนินการในการฟื้นฟูสภาพร่างกาย สภาพจิตใจต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและการประเมินของแพทย์ที่รักษาด้วยและจะมีกระบวนการติดตามผลอย่างต่อเนื่องและการส่งเสริมอาชีพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย ถ้าสามารถทำได้แบบนี้เรื่อยๆจะสามารถลดผู้ป่วยรายใหม่ที่จะกลับไปเสพยาจนกระทั่งมีอาการทางจิตและคาดว่าในอนาคตผู้ป่วยยาเสพติดมีแนวโน้มจะลดจำนวนลงคงต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการอีกซักระยะจึงจะเห็นผลในอนาคต”
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.