วันที่ 25 มีนาคม 67 พระครูพระครูประยุตสีลสุนทร เจ้าอาวาสวัดศรีบุญชุม เจ้าคณะตำบลศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา พร้อมด้วยคณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชน ทั้งในและต่างอำเภอแม่ใจ ตลอดจนต่างจังหวัด ร่วมงานประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูปพระเจ้าทองสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอแม่ใจ อีกองค์หนึ่ง ซึ่งประดิษฐานเป็นประธานอยู่ในอุโบสถวัดศรีบุญชุม ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา และทุกวันขึ้น15ค่ำเดือน6 เหนือจะมีงานประเพณีสรงน้ำองค์พระเจ้าทองสัมฤทธิ์ ทุกปี จะเป็นการสักการะ บูชา พระเจ้าทองสัมฤทธิ์ ให้ปกปักรักษาคุ้มครอง ให้ความเป็นสิริมงคล แก่สาธุชนทั้งหลายทั้งปวง
สำหรับบรรยากาศงานพิธีสรงน้ำพระเจ้าทองสัมฤทธิ์จะมีการฟ้อนเล็บถวายและพิธีบวงสรวง หลังจากนั้นก็จะเป็นพิธีสงฆ์ และพระเถรานุเถระ ได้ทำพิธีสรงน้ำ พระเจ้าทองสัมฤทธิ์โดยการกดปุ่ม สวิทช์ไฟ ระบบสรงน้ำอัตโนมัติ พระเจ้าทองสัมฤทธิ์ ประดิษฐานบนแท่นแก้ว ในอุโบสถ โดยมีพุทธศาสนิกชนรวมสรงน้ำพระฯด้วยกันอย่างคึกคักภายในอุโบสถของวัดศรีบุญชุม
ประวัติพระเจ้าทองสัมฤทธิ์
(พระพุทธรูปเจ้าทองสัมฤทธิ์) เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอ แม่ใจ อีกรูปหนึ่ง ซึ่งประดิษฐานเป็นประธานอยู่ในอุโบสถวัดศรีบุญชุม ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา พระเจ้าทองสัมฤทธิ์ นี้มีลักษณะงดงามมาก เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนาปางมารวิชัยทองสัมฤทธิ์ ชาวบ้านจึงเรียกกันมาตั้งแต่ได้มาว่า “พระเจ้าทอง” ( ตอง ) มีขนาดหน้าตักกว้าง ๗๙ เซนติเมตร และฐานล่างกว้าง ๘๐ เซนติเมตร สูงรวมฐาน ๑๐๖ เซนติเมตร
จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ชาวตำบลศรีถ้อย เล่าว่าพระพุทธรูปเจ้าได้อัญเชิญมาจากบ้านสันต้นม่วง และได้นำมาประดิษฐานไว้เป็นพระประธาน ณ อุโบสถวัดศรีบุญชุม เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
จากเสียงเล่าขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ของ พระพุทธรูปเจ้าทองสัมฤทธิ์นั้น เมื่อปีใดฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลบ้านเมืองแห้งแล้ง หรือชาวบ้านเกิดการเจ็บป่วย ประสบเคราะห์กรรมใด ๆ ชาวบ้านก็นิมนต์และอัญเชิญพระพุทธรูปเจ้าทองสัมฤทธิ์ ลงจากแท่นอาสนะที่ประดิษฐาน กระทำพิธีบวงสรวงสักการะบูชา แห่สรงน้ำทำพิธีขอฝนฟ้าให้ตก ฝนก็จะตกลงมาทันที ผู้ที่มาสักการะบูชาก็จะมีโชคลาภ มีความสุขสบายขึ้น
และในทุก ๆ ปี นั้น โดยถือเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ (เดือนหกเป็ง) ทางคณะศรัทธาวัดศรีบุญชุม และชาวบ้านตำบลศรีถ้อย พร้อมด้วยชาวอำเภอแม่ใจ จะได้ทำพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปเจ้าทองสัมฤทธิ์ ทุก ๆ ปี ดังนั้นพระพุทธรูปเจ้าทองสัมฤทธิ์ จึงเป็นที่สักการะและเป็นมิ่งขวัญของชาวอำเภอแม่ใจ ตลอดจนถึงพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน.
อนึ่งพระเจ้าทองสัมฤทธิ์ หรือ พระสิงห์ 3 เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนโบราณ ซึ่งเป็นพระพุทธรูป 3 ศิลปะ หรือมี 3 สิงห์ เรียกว่าพระสิงห์ 1 สิงห์ 2 สิงห์ 3 รวมอยู่ในองค์เดียว ประดิษฐานในอุโบสถ วัดศรีบุญชุม ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา มีอายุกว่า 500 ปี
ปัณณวิชญ์ อยู่ดีจังหวัดพะเยา
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.