ยะลาพัฒนาสินค้าท้องถิ่นขายออนไลน์ สร้างรายได้ให้ชุมชน

94

“ทุกกลุ่มมีของดี มีเรื่องเล่า โปรดักส์ดี หากขาดการสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใช่ มาพัฒนาให้ร่วมสมัยและใช้ช่องทางออนไลน์นำเสนอผลิตภัณฑ์มากขึ้น” สุกรี เจ๊ะปูเต๊ะ ตัวแทนนักออกแบบ บอกถึงการร่วมออกแบบในการพัฒนากลุ่มสตรีให้มีช่องทางการตลาดขายได้มากขึ้นเมื่อนักออกแบบพบกับผู้ผลิตที่มี “ของ” ความสร้างสรรค์ใหม่ต่อ งานปักลาวาลาเวง ขนมผูกรักนาสมี อามีนตาลโตนด SUREEYA น้ำพริกปลาหมอ BEE SHINE BUDEE จึงบังเกิด“รอบแรกทำเป็นผ้าเคลือบยาง รอบสองเป็นการพัฒนาลาย สื่อถึงชุมชนตาชีที่มีรถจิ๊ปเป็นเอกลักษณ์ มีภูเขาและป่าล้อมรอบสี่ด้าน นำมาเล่นเป็นลายผ้าลายรถจิ้ป ลายต้นยางพารา คล้ายลายพราง ให้โดดเด่น เป็นคอลเลคชั่นผ้าซาร่าที่ใส่ได้ตั้งแต่เด็กจนผู้สูงอายุ มีการสร้างงานในชุมชนแก่ผู้ด้อยโอกาสและคนที่ตั้งใจทำงาน เกิดรายได้เพิ่ม ทำงานที่บ้านได้ เมื่อมาตาชีต้องได้ติดมือกลับไป และเมื่อเราตั้งหลักได้ก็สามารถสอน แนะนำ กลุ่มหรือคนที่ตั้งใจเรียนรู้เพื่อเป็นอาชีพได้อีก” วรรลัดดา พรหมสุข จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาและแปรรูปน้ำยางตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา บอกถึงการพัฒนาลวดลายและแบบของกลุ่มจนเป็นแจ๊กเกตแนวสตรีท

ด้าน เจ๊ะนาตีป๊ะ มะหิเละ กลุ่ม LavaLaweng จากอ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ที่มุ่งมั่นในงานปักมือสู่รูปแบบต่างๆ จนเป็นที่ต้องการของตลาด ผลิตกันไม่ทันออเดอร์ เมื่อเข้าร่วมในโครงการฯ ทำให้ได้ผลิตโปรดักส์ใหม่“ตั้งใจใส่งานปักมือเซ็ทใหญ่ลงบนเสื้อคลุม กางเกง โดยทีมออกแบบให้เราใส่ใจรายละเอียดและสไตล์ตัวเอง มีสตอรี่ในลายมากขึ้นเพราะมีตลาดลูกค้าชัดเจนอยู่แล้ว เป็นคอลเลคชั่นใหม่ เพื่อเชื่อมลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ทำให้ได้เห็นการขยายแบบงานปักไปได้อีกหลายผลิตภัณฑ์

ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนทำงานปักผ้าในศูนย์ศิลปาชีพ ตอนนี้ไม่ได้ทำ จึงมารวมกลุ่มกับคนรุ่นใหม่กันเพื่อได้มีงานทำ เป็นงานปักมือที่ถนัด จนเป็นอาชีพหลัก รายได้ดีขึ้น ได้ทำงานที่บ้าน อยู่กับครอบครัว พี่สอนน้อง ทำกันจริง 80 คน งานเราได้รับการตอบรับดีมาก ลูกค้าส่วนใหญ่คือในกรุงเทพฯ เพราะเป็นงานที่ทำยาก กว่าจะเสร็จต้องใช้เวลานาน”
เช่นเดียวกับ สุรียา ซูละ จาก SUREEYA อ.รามัน จ.ยะลา ที่เข้าร่วมโครงการและพัฒนาลายผ้าพร้อมแบบใหม่ ขอบคุณมรภ.ยะลาที่เปิดหลักสูตรระยะสั้นให้ได้พัฒนางาน
“ก่อนนี้เราทำผ้าบาติกและปาเต๊ะ มีต้นทุนสูง เมื่อมาทำผ้าปริ้นท์ ผ้าแคนวาส ทำให้เร็ว กระชับเวลาและต้นทุน จนพัฒนามายังผ้าลีวายส์ ทียับยากแห้งเร็ว ประหยัดเวลา
งานเราได้พัฒนาไปมาก ได้ออกบูธ ลูกค้าตอบรับ รับออเดอร์ให้คนในชุมชนได้ทำงาน รายได้เพิ่มขึ้นมาก วัยรุ่นทำงานนอกบ้าน ชาวบ้านหลังกรีดยางก็สามารถทำงานนี้เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น เป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างนึง ให้ผู้หญิงทำงานอยู่กับบ้าน เลี้ยงลูกควบคู่กันไป เราสร้างด้วยต้นทุนเอง มรภ.ยะลาให้องค์ความรู้ การออกแบบ นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ อยากให้เป็นโครงการต่อเนื่อง สามารถสร้างเศรษฐกิจและเครือข่ายให้เราไปร่วมต่อกันได้ ต้องเติบโตไปด้วยกัน”

“ทุกกลุ่มมีของดีและมีเรื่องเล่า เช่น SUREEYA เป็นหนึ่งเรื่องเสื้อผ้าที่มีดีไซน์ต่างกัน กลุ่มตาชีที่ทำผ้าเคลือบยางก็เอาแฟชั่นเข้ามา หรือกลุ่มลาวาลาเวง ก็พัฒนาเป็นคอลเลคชั่นใหม่ เป็นหน้าที่ของนักออกแบบที่ต้องตามเทรนด์และปรับใช้ในแต่ละผลิตภัณฑ์ เห็นความตั้งใจและพัฒนาการของทุกกลุ่ม เราทำงานโดยมีข้อมูล เรามีสตอรี่แต่ไม่ได้สื่อสาร ต้องหาช่องทางสื่อสาร การขายดีอยู่ที่วิธีการและการตลาด เรากำลังทำงานสร้างสรรค์ในยุคสมัยเดียวกัน อบรมเข้มข้น เป็นเครือข่ายหนุนเสริม ตลาดโตไปด้วยกัน สร้างแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยจุดขายของแต่ละกลุ่ม ต่อไปอาจเป็น Creative Shop ผู้หญิงที่นี่ เก่ง ทำได้ทุกอย่าง” สุกรี บอกถึงมุมมองของนักออกแบบต่อกิจกรรมสร้างสรรค์นี้

กิจกรรมดีๆ มาจากความตั้งใจของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดกิจกรรมอบรมภายใต้ “โครงการพัฒนากลุ่มชุมชนสตรียุคใหม่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ในเดือนพ.ค.-ก.ค.67 จนถึงวันสรุปโครงการ โดยมี รศ.ดร.นันทรัตน์ นามบุรี เป็นหัวหน้าโครงการ ที่พร้อมสนับสนุนกลุ่มสตรีในพื้นที่ให้มีโอกาสในการต่อยอดอาชีพ เพิ่มรายได้ สร้างเครือข่ายการขายไปทั่วโลก โดยมี 9 กลุ่มในกิจกรรมนี้ที่พัฒนาเห็นผลสำเร็จ

การอบรมจัดเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 เป็นการอบรมการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายนักออกแบบในพื้นที่มาร่วมพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกับตัวแทนกลุ่มสตรีทั้ง 8 กลุ่ม จากยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ด้วยผลิตภัณฑ์จากผ้า น้ำพริกปลาหมอ สบู่น้ำผึ้งชันโรง ขนมผูกรัก ผลิตภัณฑ์งานปัก รวม 8 ประเภท ที่ได้รับการออกแบบเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ ช่วงที่ 2 เป็นการอบรมด้านการบริหารธุรกิจพร้อมฝึกปฏิบัติ อาทิ การถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ การแนะนำสินค้าบนช่องทางออนไลน์ การจัดหน้าร้าน การไลฟ์สดขายสินค้า และการคำนวณต้นทุนผลิตภัณฑ์ โดยทีมวิทยากจากคณะวิทยาการจัดการ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านบริหารธุรกิจนำไปใช้กับการบริหารงานกลุ่มสตรีได้จริง

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.