เวลา 10.00 น. วันที่ 10 ตุลาคม 2567 ที่ห้องประชุมกาสะลองคำ อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงาน สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย พล.ต.ต.มานพ เสนากูล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย พ.ต.อ.โสภณ ม่วงเฟื่อง ผู้กำกับการ สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย ได้ร่วมแถลงข่าวการตรวจยึด จับกุมสถานเสริมความงาม จากสถานประกอบการที่ ครอบครองและจำหน่ายยาอันตราย เครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ที่จำหน่ายโดย ไม่ได้รับอนุญาต และที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
โดยการจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ทางเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย ได้สืบทราบว่ามีสถานประกอบการที่มีลักษณะเพื่อครอบครองและจำหน่ายยาอันตราย เครื่องมือแพทย์และ ผลิตภัณฑ์เสริมความงามแห่งหนึ่ง บริเวณถนนเวียงบูรพา ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่จากกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข เจ้าหน้าที่จากกลุ่มกฎหมาย เจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนเมืองเชียงราย ได้ร่วมกันสืบหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมโดยมีการรวบรวมหลักฐานและดำเนินการสั่งซื้อยา อันตรายจากสถานที่ดังกล่าว พบว่ามีการจำหน่ายยาอันตรายที่ถูกควบคุมตามประกาศของกระทรวง สาธารณสุข ซึ่งห้ามใช้และจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีการกระทำความผิดจริง
ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาลจังหวัดเชียงราย เข้าตรวจค้นสถานที่ดังกล่าว หลังการเข้าตรวจค้นพบ ผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ดังกล่าวได้ครอบครองและจำหน่ายยาอันตราย เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์เสริมความงามแบบผิดกฎหมาย จำแนกเป็นในกลุ่มยาอันตราย เช่น โบท็อกซ์(Botulinum Toxin), ยาชาลิโดเคนชนิดทา (Lidocaine), กลูต้าไธโอนชนิดฉีด (Glutathione Injection), คอลลาเจนชนิดฉีด (Collagen Injection), โซเดียมไฮยาลูโรเนตชนิดฉีด (Sodium Hyaluronate Injection) และวิตามินชนิดฉีด ในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ ได้แก่ ฟิลเลอร์, ไหมสำหรับ ร้อยไหม, เสต็มเซลล์ รวมถึงมีเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดมีการ นำเข้ามาโดยไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยเฉพาะยาอันตรายที่ใช้ในคลินิกเสริมความงามที่ต้องมีการควบคุมการใช้โดยแพทย์เฉพาะทาง และไม่ได้อนุญาต ให้มีการจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มยาที่ได้ขึ้นทะเบียนการรับรองจากสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา เป็นกลุ่มยาที่สามารถจำหน่ายได้โดยต้องมีการควบคุมดูแลจากเภสัชกร หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ได้แก่ ยาชาชนิดฉีด (Lidocaine injection), ยาอะซิตีลซีสเตอีน (Acetylcysteine) และยาทรานซามิคแอซิด (Tranexamic Acid) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ประกอบการไม่ได้ประกอบวิชาชีพเภสัชกร หรือเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เปิดร้านจำหน่ายยาแผน ปัจจุบัน
ผลจากการตรวจยึดสามารถจับกุมพร้อมได้ตรวจยึดและอายัดของกลางจำนวน 200 รายการ หรือประมาณ 15,000 ชิ้น มูลค่ารวมทั้งสิ้น 5,000,000 บาท
เบื้องต้นได้แจ้งความผิดฐาน ผลิต จำหน่ายและโฆษณายาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510, ขายเครื่องสำอางโดย ไม่มีเลขจดแจ้ง ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 และขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับ อนุญาต ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551
นายแพทย์วัชรพงษ์ กล่าวว่า จากการเข้าไปตรวจสอบก็พบว่าภายในร้านเปิดจำหน่ายยาอันตรายที่ต้องควบคุมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งห้ามใช้และจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือและผลิตภัณฑ์เสริมความงามแบบผิดกฎหมายด้วย เช่น โบท็อกซ์ ยาชาลิโดเคนชนิดทา กลูต้าไธโอนชนิดฉีด คอลลาเจนชนิดฉีด โซเดียมไฮยาลูโรเนตชนิดฉีด วิตามินชนิดฉีด ฟิลเลอร์ ไหมสำหรับร้อยไหม เสต็มเชลล์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
“การนำเข้าโดยไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บางชนิดเป็นยาอันตรายที่ใช้ในคลินิกเสริมความงามซึ่งต้องมีการควบคุมโดยแพทย์เฉพาะทางด้วยและไม่ได้อนุญาตให้มีการจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปด้วย ภายในร้านยังพบมีกลุ่มยาที่ขึ้นทะเบียนจาก อย.อยู่ด้วยแต่ต้องได้รับการควบคุมดูแลจากเภสัชกรหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วย เช่น ยาชาชนิดฉีด ยาอะชิตีลชีสเตอีน ยาทรานชามิคเอชิด แต่ปรากฎว่าผู้ประกอบการไม่ได้เป็นเภสัชกรหรือผู้ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่จึงอายัดไว้เป็นของกลางและเบื้องต้นได้แจ้งความผิดฐาน ผลิต จำหน่ายและโฆษณายาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ยา ปี 2510,ขายเครื่องสำอางโดยไม่มีเลขจดแจ้ง ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ปี 2558 และขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพย์ปี 2551 ทั้งนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างตรวจสอบของกลางทั้งหมดอีกครั้งและขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการซื้อหรือใช้บริการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเลือกที่เปิดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” นายแพทย์วัชรพงษ์ กล่าว
พล.ต.ต.มานพ กล่าวว่าหลังจากเจ้าหน้าที่ได้สืบหาหลักฐานจนครบถ้วนจึงได้ขอหมายค้นจากศาล จ.เชียงราย เข้าไปตรวจค้นที่ร้านพบว่าได้เช่าสถานที่ดังกล่าวมาตั้งแตเดือน เม.ย.2567 ที่ผ่านมาแล้ว คาดว่าจะเป็นลักษณะเปลี่ยนสถานที่เก็บและจำหน่ายไปตามสถานที่ต่างๆ ไปเรื่อยๆ กระทั่งมาถูกเจ้าหน้าที่ตรวจพบและเข้าตรวจค้นดังกล่าวซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างขยายผลไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้รับซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ หมอกระเป๋า จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องได้เลิกกระทำเสียเพราะเฉพาะโทษของการจำหน่ายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตก็คือจำคุก 5 ปีแล้วและยังมีโทษอื่นๆ ด้วย
ด้าน พ.ต.อ.โสภณ กล่าวว่าเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีกับผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการและดูแลร้านจำนวน 1 คน ส่วนของกลางจะได้ร่วมกับทางสาธารณสุขในการตรวจแยกถึงที่มาที่ไปเบื้องต้นพบมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย จากนั้นนำมาจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดอย่างมากโดยมีการจัดโปรโมชั่นต่างๆ ด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้ร่วมกันขยายผลไปถึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป.
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.