มฟล. เชิญเจ้าหน้าที่ด้านการทูตจาก 3 ประเทศ ติวบุคลากรทำงานข้ามวัฒนธรรม

32
IMG_0226
 มฟล. เชิญเจ้าหน้าที่ด้านการทูต จีน เมียนมาร์ และลาว ติวเข้มบุคลากรของมหาวิทยาลัย และหน่วยงานรัฐ เรียนรู้การทำงานร่วมกับบุคลากรจากประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทำงานท่ามกลางวัฒนธรรมหลากหลาย เพื่อเป็นจุดแข็งในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเผยว่า เชียงรายเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับ 2 ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเมียนมาร์และลาว และยังมีเส้นทางเชื่อมต่อไปยังจีน จึงเป็นจุดสำคัญแห่งการต่อเชื่อมในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจหรือสังคม และทุกกรอบความร่วมมือทั้งอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และอาเซียน มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีความแตกต่างทางด้านระบบบริหารราชการ ขั้นตอนพิธีการ ระบอบการปกครอง แต่ละหน่วยงานที่มีงานต้องประสานระหว่างกันจำเป็นต้องมีความรู้ในการแตกต่างหลายหลายของระเบียบ ขั้นตอน ไปจนถึงนิสัยใจคอของผู้คน มฟล.เห็นความสำคัญว่าความเข้าใจดังกล่าวเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือเพื่อให้เกิดกิจกรรมอันจะนำไปสู่ความมั่งคั่ง ความมั่นคงบริเวณชายแดนและภูมิภาค จึงได้มอบหมายให้ส่วนพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จัดโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจการบริการจัดการและวัฒนธรรมการทำงานของประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้รูปแบบการอบรมหลากหลายทั้งการบรรยายและอบรมเชิงปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ 8 – 10  สิงหาคม 2558 ที่ห้องประชุมวนาสวรรค์ วนาศรม มฟล. จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีนายอาคม สุขพันธุ์ ปลัดจังหวัดเชียงราย เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
โดย มฟล. ได้เชิญเจ้าหน้าที่ด้านการทูตจาก จีน เมียนมาร์ และลาว มาเพื่อทำการบรรยายถึงการทำงานร่วมกับบุคลากรชาวจีน, เมียนมาร์ และลาว ระบบการเมืองการปกครอง สังคมและวัฒนธรรม ละนโยบายชายแดน ได้แก่ นายสุชาติ เลียงแสงทอง กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง, นายพิษณุ สุวรรณะชฏ เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง และ นางสาวปุตริกา อำไพพรรณ อัครราชทูตที่ปรึกษา ณ กรุงเวียงจันทร์ ทั้งยังได้รับเกียรติจาก พลอยไพฑูรย์ จิตรสมนึก ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายฝึกอบรมกลุ่ม บริษัทโอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ บรรยายเรื่อง การบริหารจัดการความหลายกหลายทางวัฒนธรรมในสถานที่ทำงาน นอกจากนี้ยังมีการบรรยายเรื่อง พิธีการทางการทูต โดยนางสาวศศรักษ์ ศะศิวณิช นักการทูตชำนาญพิเศษ กรมพิธีการทูต กระทรวงต่างประเทศ รวมถึงการบอรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ การดำเนินงานด้านการต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน โดย นายอภิรัฐ เหวียนระวี อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง
รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มฟล. บรรยายในหัวข้อ ‘การเตรียมความพร้อมของบุคลากรภาครัฐในด้านความเป็นนานาชาติภายใต้บริบทของประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก’ โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจถึงความเป็นอาเซียนที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ในกลุ่มประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ต่างมีบางอย่างเหมือนกันบางอย่างต่างกัน เช่น มีรูปแบบการปกครองต่างกันอาจจะค้าขายอย่างเดียวกัน ศาสนาหลักเดียวกันแต่วัฒนธรรมอาจต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความรู้จักทำความเข้าใจ เพื่อจะใช้เป็นฐานในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการแข่งขันต่อไป สำหรับไทยนั้นมีความสามารถในการแข่งขันไม่ด้อยไปกว่าประเทศอื่นในอาเซียน
“ประเทศไทยถือว่าอยู่ในจุดที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นทางภูมิศาสตร์หรือศักยภาพที่เข้มแข็ง มีทั้งความสามารถ มีทั้งผลผลิตหลากหลาย ภาคธุรกิจก็เข้มแข็งผ่านมาหลายวิกฤติ มีแต่ภาคการเมืองเท่านั้นที่อ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบหรือตรงกันข้าม ทางหนึ่งก็เต็มไปด้วยความคิดที่แตกต่างหรืออีกทางก็เต็มไปด้วยถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์ ถ้านักการเมืองเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชน ประเทศไทยคงจะเติบโตได้อย่างไม่มีคู่แข่ง”
อธิการบดี มฟล. กล่าวต่อว่า บุคลากรภาครัฐนั้นเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนนั้น โดยจะต้องเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนเป็นอย่างดี แต่ขณะที่ในสถานการณ์จริงในวันนี้หน่วยงานรัฐยังไม่เคยตื่นตัว เพียงทราบว่าอาเซียนคืออะไรเท่านั้น แต่ยังไม่เคยเห็นหน่วยงานรัฐหน่วยใดที่ชัดเจนว่าจะสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับคนในหน่วยงานของรัฐได้อย่างไร ฉะนั้นจากนี้มีเวลาอีก 1 ปี แม้จะเป็นเวลาที่น้อยแต่ถ้าเริ่มต้นใหม่ก็ยังทันที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับบุคลากรรัฐ
“เนื่องจากการเปิดประชาคมอาเซียนนั้นมันไม่ใช่เหมือนเปิดประตูเขื่อนแล้วน้ำจะไหลทะลักเข้ามาทันที กว่าที่สิ่งต่างๆ มันจะขยับตัวแล้วมีความเปลี่ยนแปลงใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 – 5 ปี จึงจะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัด วันนี้จึงต้องมาพูดกันว่าจะทำอย่างไร วันนี้มาบอกว่าแค่รู้เรื่องอาเซียนนั้นไม่พอแล้ว แต่ต้องสร้างความเข้มแข็ง ความเข้าใจ ความสามารถ ให้เกิดประโยชน์”
รศ.ดร.วันชัย ระบุว่า สิ่งที่หน่วยงานรัฐทั้งระดับกระทรวงไปจนถึงกรม เว้นกระทรวงต่างประเทศที่จับเรื่องอาเซียนมาตลอดแล้ว โดยมีสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในวันนี้คือ แบ่งบุคลากรของรัฐออกเป็นกลุ่ม คัดกลุ่มที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนา คือ คนที่ทำงานเกี่ยวกับอาเซียนโดยเฉพาะในเชิงนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์หรือกระทรวงมหาดไทย ที่ทำหน้าที่เป็นด่านหน้า จากนั้นจึงค่อยขยับไปพัฒนากลุ่มที่ความจำเป็นระยะกลางและสุดท้ายคือกลุ่มที่ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรง นอกจากนี้กลุ่มที่สำคัญอีกลุ่มคือกลุ่มในแวดวงการศึกษา ที่จะต้องจัดให้มีความรู้ความเข้าใจแตกต่างกัน อย่างในระดับอนุบาล-ประถมศึกษานั้นก็จัดในระดับให้รับรู้ก็เพียงพอหรือในระดับมหาวิทยาลัยต้องเรียนรู้ในระดับที่จะสร้างกลยุทธ์ในการปฏิบัติต่อกลุ่มอาเซียน เพื่อมหาวิทยาลัยจะได้ทำหน้าที่ที่จะซ่อมสร้าง โดยยังได้ระบุถึงจุดอ่อนของไทยในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนก็คือทักษะทางด้านภาษา ไม่เฉพาะภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลเท่านั้น ภาษาของประเทศเพื่อนบ้างก็ยังอ่อนด้วยเช่นกัน ทั้งยังขาดความรู้ความสามารถในการค้าขายกับต่างประเทศ
อธิการบดี กล่าวต่อว่า สำหรับแวดวงการศึกษา มหาวิทยาลัยจะต้องเตรียมคนทางด้านภาษา ความรู้ที่จะแข่งขัน และสำคัญที่สุดก็คือเป็นแหล่งอบรมและพัฒนาให้กับคนในประเทศนั้นมีความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้ ถ้าอุดมศึกษาหรือแวดวงการศึกษาทำไม่ได้นั้นคือความล้มเหลวของประเทศ แวดวงการศึกษาต้องสร้างคน ไม่เฉพาะกลุ่มที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเท่านั้นแต่ไปต่อยอดให้กลุ่มคนทำงานโดยเฉพาะจากแวดวงข้าราชการที่ได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ทั้งยังได้พูดถึงการจัดตั้งอุทยาวิทยาศาสตร์ หรือ science park ของ มฟล. ที่โดยทั่วไปจะเป็นแหล่งในการนำความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในอุตสาหกรรมใหญ่ แต่ มฟล. จะทำในทางที่แตกต่างคือจะประยุกต์ความรู้ความสามารถนั้นไปใช้กับธุรกิจ ‘เอสเอ็มอี’  ให้มีความเข้มแข็งและลืมตาอ้าปากได้ด้วยเทคโนโลยี ทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจาก มฟล.ตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจกลุ่มนี้ที่จะเป็นหัวหอกในสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทย

 

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.