ที่อาคารเอ็มสแควร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มฟล.เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมหมอเมืองล้านนาและชนเผ่าพื้นเมือง” โดยมีสมาชิกหมอเมือง หรือแพทย์พื้นบ้านในพื้นที่ จ.เชียงราย และใกล้เคียง รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ นำภูมิปัญญา เวชภัณฑ์ สมุนไพร มาจัดแสดงภายในงาน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้สนใจ ทั้งการนำน้ำสมุนไพมาให้ผู้สนใจชิม การนวด การให้ความรู้จากหมอเมืองที่มีประสบการณ์ พร้อมทั้งจัดเสวนา “จะสืบทอดภูมิปัญญาหมอเมืองล้านนาและหมอชนเผ่าพื้นเมืองอย่างไรในยุคไทยแลน์ 4.0” โดยมี นายสนั่น เนตรสุวรรณ ประธานสภาหมอเมือง จ.เชียงราย นายไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก ผู้อำนวยการสมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชาวอ่าข่าเชียงราย และผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับหมอเมืองหลายท่านเข้าร่วม
โดยการเสวนาส่วนใหญ่เป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการรักษาภูมิปัญญาหมอเมือง และผลกระทบจากการแพทย์ในยุคปัจจุบันซึ่งไม่ให้ความสำคัญกับการแพทย์ทางเลือกมากนัก ขณะที่ภูมิปัญญาบางอย่างที่ใช้เป็นส่วนผสมในสมุนไพรหลายชนิด อาทิเช่น เหล้าพื้นบ้าน ที่มีการผลิตกันมากใน จ.แพร่ และภาคเหนือบางจังหวัดโดยมีมูลค่าปีละกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ที่ผ่านมากลุ่มผู้ผลิตสุราเหมาไถของประเทศจีนได้สนใจมาเจรจาเพื่อจะรับซื้อ ซึ่งการที่สภาหมอเมืองเป็นองค์กรนำสำคัญและให้องค์กรหน่วยงานต่างๆ เสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ กล่าวว่าในอดีตหมอเมืองหรือแพทย์พื้นบ้านนั้นมีอยู่ทั่วโลกและได้รับการยอมรับแต่ปัจจุบันเมื่อมีการแพทย์แผนปัจจุบันที่มีความสะดวก รวดเร็วและน่าเชื่อถือด้านการศึกษาค้นคว้าและทดลอง จึงทำให้ภูมิปัญญาพื้นบ้านถูกละเลยไป แต่ก็ยังมีผู้พยายามอนุรักษ์เอาไว้ และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันซึ่งทาง มฟล.ได้ให้ความสำคัญจึงได้เปิดสาขาวิชาแพทย์แผนไทยประยุกติ์ขึ้นภายใต้สำนึกวิทยาศาสตร์สุขภาพ และพบว่าปัญหาสำคัญที่ทำให้การรักษาแบบแพทย์แผนไทยหรือหมอเมืองคือความน่าเชื่อถือเพราะในปัจจุบันต้องมีหลักการทางวิทยาศาสตร์จึงจะได้รับการยอมรับ ซึ่งจุดนี้ทาง มฟล.ได้เข้ามามีบทาทในการศึกษาและวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อนำผลมาพิสูจน์การรักษาให้เป็นที่ยอมรับรวมทั้งมีการสืบทอดสู่คนรุ่นต่อๆ ไป ปัจจุบันมีการค้นคว้าแบบครบวงจรในทุกด้าน
นายสนั่น เนตรสุวรรณ ประธานสภาหมอเมือง จ.เชียงราย กล่าวว่าที่ผ่านมาหมอเมืองมีกระจายอยู่ทั่วไปแต่ผู้ที่สืบทอดในปัจจุบันมีอายุมากขึ้นขณะที่การยอมรับจากสังคมในปัจจุบันกลับมีน้อยลง ทำให้ผู้ที่จะรวมตัวกันเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ภูมิปัญญานี้ไว้อย่างเข้มแข็งทำได้ยากโดยหากไม่ใช่จังหวัดที่มีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งหรือได้รับการสนับสนุนจริงๆ ก็รวมตัวกันได้ยาก จึงเป็นปัญหาที่จะต้องอาศัยทุกภาคส่วนร่วมกันเหมือนอย่างกรณี มฟล.ได้ดำเนินการในครั้งนี้ดังกล่าวซึ่งตนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก
ประณอม เชิมชัยภูมิ นักวิชาการท้องถิ่นที่ผลักดันด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น กล่าวว่า กรณีเหล้าพื้นบ้านของ จ.แพร่นั้น ชาวบ้านได้ผลักดันให้ได้รับการยอมรับจากกฎหมายไทยมากนานแต่ปรากฎว่าที่ผ่านมาการผลักดันก็ทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งผลที่ได้ก็ทำให้สถานะของเหล้าพื้นบ้านเป็นอยู่เหมือนในปัจจุบันโดยแข่งขันกับของกลุ่มทุนใหญ่ๆ ได้ยาก ขณะที่รัฐบาลในอดีตที่ผ่านๆ ให้ความสำคัญมากน้อยต่างกันแต่ในช่วงหลังพบว่าให้ความสำคัญน้อยมากจนอยู่ในขั้นล้าหลังเลยทีเดียวจึงตั้งความหวังว่าในปัจจุบันจะมีการผลักดันให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาไทยมากขึ้นต่อไป
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.