2,000ปีไหว้สาพระธาตุดอยตุง ผลักดันโปรแกรมท่องเที่ยวดึงคนทั่วโลก

วันที่ 19 ก.พ.61  ที่โรงแรมเดะเลเจ้นด์เชียงราย บูติกริเวอร์ รีสอร์ท แอนด์สปา จ.เชียงราย นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย นายอมร กิตติกวางทอง วัฒนธรรม จ.เชียงราย และนายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน “2,000 ปีสืบมา หกเป็งล่องฟ้า ไหว้สาพระธาตุดอยตุง” โดยมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 ก.พ.-2 มี.ค.นี้ โดยพิธีวันแรกกำหนดให้พุทธศาสนิกชน นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปที่สนใจไปรวมตัวกัน ณ วัดศาลาเชิงดอย ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย เพื่อสักการะพระรูปปั้นครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญล้านนาในอดตและร่วมกันเดินจาริกแสวงบุญตามรอยครูบาสู่พระธาตุดอยตุงโดยใช้เส้นทางเดินเท้าระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร ผู้เดินถึงที่หมายจะได้รับมอบเกียรติบัตรและเหรียญ “หลวงพ่อสมปราถนา” สร้างด้วยทองเหลือโดยอาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง นายกสมาคมขัวศิลปะเชียงรายและปรับแบบโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย  จำนวน 3,000 เหรียญ
จากนั้นมีการจัดพิธีสืบชะตาหลวงล้านนาบริเวณพระธาตุดอยตุง ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม การตักน้ำทิพย์จากบ่อน้ำทิพย์ พิธีเจริญพระพุทธมนต์เทศน์ อบรมสมโภช เทศน์สวดเบิกโดยพระสงฆ์ทำพิธีตลอดทั้งคืนเพื่อความเป็นสิริมงคล  เช้าวันที่ 1 มี.ค.ร่วมทำวัตรเช้าและตักบาตร กิจกรรมขบวนแห่น้ำสรงพระราชทาน ผ้าไตรพระราชทาน น้ำทิพย์ เครื่องสักการะขบวนตุง จาก 18 อำเภอ ส่วนราชการ ท้องถิ่นและมวลชน และขบวนแห่รัตนสัตตนังสักการะพระธาตุดอยตุง เริ่มจากหน้าวัดพระธาตุดอยตุงไปยังบริเวณพระธาตุโดยจะมีมวลชนยืนโปรยข้าวตอกดอกไม้ไปตลอดเส้นทาง เมื่อถึงพระธาตุทางคณะสงฆ์ จ.เชียงราย และผู้เกี่ยวข้องจะประกอบพิธีทางศาสนา พิธีถวายเครื่องสักการะประกอบพิธีสรงน้ำพระธาตุและห่อผ้าพระธาตุเป็นอันเสร็จพิธี
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่าพระธาตุดอยตุงมีความเป็นเอกลักษณ์เพราะเป็นพระธาตุคู่ที่มีความเป็นมาว่าพระอรหันต์ถึง 2 รูปนำพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานเอาไว้ถึง 2 ครั้ง และมีความเป็นมายาวนานกว่า 1,500 ปี ช่วงแรกพบสถานที่ตั้งมีเจดีย์องค์เดิมอยู่ก่อนแล้วแสดงว่าของเดิมมีอายุความเป็นมายาวนานกว่านั้น ดังนั้นพระธาตุดอยตุงจึงถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของ จ.เชียงราย โดยบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอดีต ซึ่งปัจจุบันเป็นที่เคารพสักการะของชาวไทย สปป.ลาว เมียนมา  จีนตอนใต้ และความเป็นอาณาจักรโบราณในบริเวณดังกล่าว รวมถึงยุคปัจจุบันยังเป็นสถานที่ที่สมเด็พระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงสร้างพระตำหนักดอยตุงและพัฒนาพื้นที่จนเจริญรุ่งเรืองถึงปัจจุบัน ดังนั้นกิจกรรม 2 วันที่ยิ่งใหญ่ในโอกาสครบรอบ 2,000 ปี ทางจังหวัดได้ผลักดันผ่านหน่วยงานการท่องเที่ยวและกีฬาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อขอให้บรรจุในโปรแกรมการท่องเที่ยวเพื่อให้ผู้คนได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของดอยตุงร่วมกันต่อไป
นายอมร กล่าวว่ากิจกรรมนอกจากจะจัดให้มีการเดินจาริกตามรอยครูบาเจ้าศรีวิชัยแล้วยังมีการจัดบวชพุทธบุตรจำนวน 61 รูปและจัดปฏิบัติธรรมอุบาสกอุบาสิกาจำนวน 80 คน จากนั้นก็มีพิธีการต่างๆ ที่ยิ่งใหญ่ต่อเนื่องดังกล่าวด้วย
ด้านนายเสริฐ กล่าวว่าการจัดพิธีสืบชะตาที่พระธาตุดอยตุงในครั้งนี้ใช้ชื้อว่าการสืบชะตาหลวงล้านนา “รวมพลคนปีกุน (กุญชร) และทุกราศรี ซึ่งในปีนี้เราก็มีเป้าหมายว่าจะให้คนปีกุนขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยตุงให้ได้จำนวน 1 ล้านคน เพื่อประชาสัมพันธ์ความเป็นมาของพระธาตุ ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องทุกปีต่อไป
สำหรับพระธาตุดอยตุงเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์โดยมีความเป็นมาว่าพระมหากัสสปะซึ่งเป็นพระอรหันต์ครั้นพุทธกาลได้นำพระบรมสารีริกธาตุมามอบให้กับพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์องค์ที่ 3 ของอาณาจักรโยนกนาคพันธ์ ซึ่งพระเจ้าอชุตราชได้เสี่ยงทายด้วยการนำตุงยาว 7,000 วาไปปักเอาไว้เพื่อหาจุดสร้างพระธาตุก็ได้ตรงยอดดอยตุงในปัจจุบันนั่นเอง ต่อมาอีก 100 ปีมีพระมหาวชิรโพธิเถระซึ่งเป็นอรหันต์อีกรูปนำพระบรมสารีริกธาตุมามอบให้กับพระเจ้ามังรายณะกษัตริ์ที่ครองราชสืบต่อกันมาอีก ทำให้มีการสร้างเป็นประธาตุคู่แฝดกันมา จนปี 2470 ครูบาศรีวิชัยนักบุญล้านนาได้ไปบูรณะทำให้พุทธศาสนิกชนสืบทอดการเดินขึ้นดอยตุงเพื่อสรงน้ำพระธาตุจนถึงปัจจุบัน.