DSIลงพื้นที่ตรวจสอบต่างด้าวสวมสิทธิบัตรคนไทยทำธุรกิจ มีทุนจดทะเบียนรวมกันกว่า 3,600 ล้านบาท

เวลา 15.30 น วันที่ 26 พ.ค.63 นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทน อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล ผู้อำนวยการกองคดีความมั่นคง และ นายธวัชชัย รัตนปรีชาชัย ผู้อำนวยการส่วนคดีความมั่นคง 2 บูรณาการร่วมกับ กรมการปกครอง โดย นายวีระชาติ ดาริชาติ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน, นายเอกอนันต์ ศรีอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันและปราบปรามการทุจริตการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน, นายอุดม อยู่อินไกร นายอำเภอเวียงแก่น และตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ตรวจสอบกรณีคนต่างด้าวสวมสิทธิสัญชาติไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และได้ใช้สิทธิไปประกอบธุรกิจต้องห้าม เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542

โดยการเดินทางมาตรวจสอบในครั้งนี้เนื่องจากกรมการกงสุลได้ส่งข้อมูลให้กองคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบกรณี นายแก้ว แซ่ลี ถือหนังสือเดินทาง 2 ฉบับ ทั้งสัญชาติไทย และสัญชาติจีน ซึ่งตรวจพบโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในประเทศจีน จากการตรวจสอบพบว่า นายแก้ว แซ่ลี เป็นคนต่างด้าว ได้สวมสิทธิสัญชาติไทยโดยใช้วิธีสวมชื่อบุคคลสัญชาติไทยที่ยังมีชีวิตอยู่ ในท้องที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐ (อดีตปลัดอำเภอเวียงแก่น) ที่ทำหน้าที่ในฐานะผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอเวียงแก่น เป็นผู้ดำเนินการ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้กรมการปกครอง เพื่อเพิกถอนการรายการสิทธิสัญชาติไทยและดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำผิดทางอาญาที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการสืบสวนขยายผลร่วมกับสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีการสวมสิทธิโดยมิชอบในช่วงเวลาที่ปลัดอำเภอเวียงแก่นซึ่งเป็นผู้กระทำผิด อีกจำนวน 255 รายชื่อ จึงเป็นที่มาของการบูรณาการร่วมกันใน 2 ด้าน คือ ด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งกรมการปกครองเป็นผู้รับผิดชอบ และ ด้านการประกอบธุรกิจต้องห้ามของคนต่างด้าว

ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบ โดยได้รับกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องสืบสวนที่ 23/2563 และขณะนี้ได้นำรายชื่อบุคคลจำนวน 255 รายชื่อ ที่ปรากฏภาพลายนิ้วมือในขณะแจ้งถิ่นพำนัก ส่งไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตรวจเปรียบเทียบกับลายพิมพ์นิ้วมือขณะทำบัตรประชาชน เพื่อพิสูจน์ตัวบุคคล รวมทั้งได้นำรายชื่อทั้ง 255 ราย ตรวจสอบกับฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่ามีการไปจดทะเบียนประกอบธุรกิจต้องห้ามของคนต่างด้าวจำนวน 15 ราย ในลักษณะนิติบุคคลรวม 19 บริษัท โดย 1 ใน 15 ราย ซึ่งจดทะเบียน เป็นนิติบุคคล 3 บริษัท มีทุนจดทะเบียนรวมกันไม่น้อยกว่า 3,600 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีสินทรัพย์ของนิติบุคคลรวมเกิน 100 ล้านบาท เข้าข่ายลักษณะที่เป็นคดีพิเศษ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด

พันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษมุ่งมั่นดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกรณีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 อย่างเด็ดขาดและครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อคุ้มครองธุรกิจที่คนไทยไม่พร้อมที่จะแข่งขันกับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งได้ใช้วิธีการให้คนต่างด้าวกลุ่มนี้เข้าสวมสิทธิเป็นคนไทยโดยมิชอบ แล้วเข้าไปถือหุ้นแทนในลักษณะนอมินีว่าเป็นธุรกิจของคนไทย รวมถึงการตรวจสอบที่มาของแหล่งเงินทุนของธุรกิจของคนต่างด้าวดังกล่าวว่าเข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎหมายฟอกเงินด้วยหรือไม่ หากประชาชน มีข้อมูลหรือเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิดดังกล่าว สามารถแจ้งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ที่สายด่วน DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเก็บรักษาข้อมูลผู้แจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับ