เปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ – ห้วยทราย)

 

 

เวลา 10.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ – ห้วยทราย) ร่วมกับ ฯพณฯ บุนยัง วอละจิต รองประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในการนี้ทรงทอดพระเนตรนิทรรรศการมิตรภาพข้ามพรมแดนของกรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ อาคารด่านพรมแดน สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ทางด้านฝั่งไทย โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลรายงาน พร้อมด้วยหน่วยงานจากภาครัฐ เอกชน พ่อค้า ประชาชน เฝ้ารอรับเสด็จและเข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก

สำหรับสะพานแห่งนี้ หลังจากที่ได้ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 เชียงของ-ห้วยทราย ซึ่งเป็นสะพานที่เชื่อต่อเส้นทาง R3a จากกรุงเทพ – คุณหมิง เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ดีระหว่าง 3 ประเทศที่ถนนสายนี้ผ่าน ซึ่งการเปิดใช้สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 4 ในฤกษ์ดีวันที่ 11 เดือน 12 ปี 13 นี้ จะเป็นการเชื่อมต่อและเป็นการเปิดใช้เส้นทางอย่างเป็นทางการ เพื่อให้การคมนาคมระหว่างประเทศสะดวกมากยิ่งขึ้น และเพื่อเป็นการรองรับ AEC ในปี 2015 โดยใช้วงเงินก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 1,570 ล้านบาท
เส้นทาง R3A หรือ คุนมั่น กงลู่ คือเส้นทางเชื่อมกรุงเทพฯสู่คุนหมิง ซึ่งมีต้นทางเริ่มจากเชียงของ ประเทศไทย-บ่อแก้ว-หลวงน้ำทา-บ่อเต็น ของประเทศลาว-บ่อหาน-เชียงรุ่งหรือจิ่งหง ในแคว้นสิบสอ ปันนา นครคุนหมิงมณฆลยูนนาน ของประเทศจีน โดยมีระยะทางจากกรุงเทพฯถึงคุนหมิง รวมกว่า 1,800กิโลเมตร
จากการที่รัฐบาลจีนมีแผนในการพัฒนามณฑลยูนนานให้เป็นเมืองเศรษฐกิจทางตอนใต้ของประเทศ โดยเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของ 4 ประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือของไทย ลาว พม่า และภาคใต้ของจีน (มณฑลยูนนาน) ส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางการค้าภายในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อจีนได้บรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ก็จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายมูลค่าทางการค้าระหว่างภูมิภาคที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เช่น การค้าขายข้ามประเทศ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นเส้นทางการขนส่งที่น่าจับตามองมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย

กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-Region: GMS) ถือเป็นความร่วมมือสำคัญในการเชื่อมโยงและพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคอินโดจีน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) ที่จะนำมาซึ่งประโยชน์และก่อเกิดรายได้มหาศาลกับกลุ่มประเทศที่อยู่บนเส้นทาง R3A

สำหรับการก่อสร้างถนนสายเศรษฐกิจ R3a เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมในกลุ่มประเทศอนุภาคลุ่มน้ำโขงนับเป็นโครงการบูรณาการเศรษฐกิจในระดับมหภาค ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวนับว่าเป็นโอกาสสูงมากที่ประเทศไทยจะมีช่องทาง โอกาสในการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนตอนใต้ ที่จะเดินทางมาทางรถยนต์และทางเรือเพื่อมาท่องเที่ยวยังจังหวัดต่างๆทางภาคเหนือของประเทศไทย เนื่องจากจำนวนประชากรของจีนนั้น มีจำนวนมากกว่า 1,400 ล้านคน

นอกจากการเปิดถนนเส้น R3a แล้ว ประเทศจีน ยังได้ลงทุนทำธุรกิจเม็กกะโปรเจ็คต่างๆ มากมายบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เช่น เอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ ส่งผลทำให้จังหวัดทางภาคเหนือตอนปลายอย่างจังหวัดเชียงรายได้รับผลประโยชน์โดยตรง รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงที่จะได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยถือว่านี่เป็นโอกาสทองในการเปิดช่องทางแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศ รวมถึงประเทศที่ 3 ที่ทำการเดินทางผ่านประเทศได้เป็นอย่างดี