เปิดสะพาน ไทย – ลาว แห่งที่ 4 คึกคัก นักท่องเที่ยวและประชาชน ใช้บริการเพียบ

 

หลังจากที่สะพานมิตรภาพ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) เชื่อม อ.เชียงของ กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ได้มีการเปิดใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมาปรากฎว่าการใช้ประโยชน์จากสะพานเพื่อเชื่อมไทย-สปป.ลาว กับถนนอาร์สามเอซึ่งเชื่อมไปถึงมณฑลยูนนาน ประเทศเทศจีน ระยะทาง 245 กิโลเมตรมีความคึกคักอย่างมาก ทั้งในด้านการค้าชายแดนที่มีรถขนส่งสินค้าหันไปใช้บริการแทนการใช้แพขนานยนต์ในแม่น้ำโขงผ่านท่าเรือเชียงของ การเดินรถโดยสาร การเดินทางเข้าออกของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปทั้งสองฝั่งประเทศที่มีทั้งการใช้หนังสือเดินทางระหว่างประเทศหรือพาสปอร์ทและบัตรผ่านแดนชั่วคราวหรือบอเดอร์พาส ฯลฯ
                                          
ทำให้บรรยากาศของด่านพรมแดนและพื้นที่ ต.สถาน และ ต.ศรีดอนชัย ซึ่งเป็นเขตถนนและตัวสะพานมากไปด้วยผู้คนและยานพาหนะ รวมทั้งบางครั้งเกิดปัญหาขลุกขลักซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเปิดใช้งานครั้งแรก เช่น ประชาชน นักท่องเที่ยวและรถบรรทุกสินค้าที่ไปใช้บริการต้องสอบถามวิธีปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่อยู่ตลอด เครื่องชั่งน้ำหนักสินค้าที่ด่านพรมแดนเกิดปัญหาขัดข้องหลังใช้งานครั้งแรก เป็นต้น
ล่าสุดมีรายงนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ว่าทาง ททท.ได้จัดให้มีพิธีต้อนรับคณะคาราวานรถยนต์ท่องเที่ยวจากประเทศจีนจำนวน 46 คันด้วยผู้โดยสารจำนวน 183 คน ซึ่งได้เดินทางมาจากมณฑลเสฉวนและมณฑลยูนนาน ประเทศจีน มาตามถนนอาร์สามเอเพื่อใช้สะพานดังกล่าวเป็นครั้งแรก โดยถือเป็นทัวร์จีนคณะแรกที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยผ่านสะพาน จากนั้นได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ จ.เชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย ระหว่างวันที่ 12-17 ธ.ค.นี้ทำให้ทาง ททท.คาดการณ์ว่าจะสร้างเงินสะพัดจากคณะทัวร์ดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท
                                        
ด้านนางฐิติรัตน์ เรวรรณ์ ประธานเครือข่ายพัฒนาการท่องเที่ยว อ.เชียงของ กล่าวว่าการเปิดสะพานมิตรไทยลาวครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้การท่องเที่ยวของ อ.เชียงของ เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจะเพิ่มจากเดิมเป็นกลุ่มชาวต่างประเทศที่ต้องเดินทางข้ามแพขนานยนต์ในแม่น้ำโขงซึ่งยุ่งยากกว่า ก็จะกลายเป็นนักท่องเที่ยวคนไทยและจีนที่จะเดินทางมาจากทั่วสารทิศเพื่อไปใช้สะพานดังกล่าว
ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่าการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ดังกล่าวมองได้ 2 มุมคือด้านการค้าที่จะมีการเจริญเติบโตมากขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นที่ผ่านมาจึงมีการปรึกษาหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวเพื่อหาจุดลงตัวเพื่อให้เมืองเป็นเมืองแห่งการค้าและการท่องเที่ยว ขณะที่วิถีชีวิตก็มีการอนุรักษ์วิท้องถิ่นให้คงอยู่ควบคู่กันไป