เวลา 19.30 น.วันที่ 10 ก.ค.66 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายพลทัต สุราฤทธิ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5 สำนักงานคดีพิเศษพล.ต.ต.ดุลเดชา อาชวะสมิตระกูล ผบก.ภ.จว.เชียงราย พ.ต.อ.สราวุธ คนใหญ่ รอง ผบก.ตม.5 พ.ต.อ.เขมชาติ วัฒนนภาเกษม ผกก.ตม.จว.เชียงราย พ.ต.อ.ชินกร อัศวภูมิ ผกก.ด่าน ตม.เชียงแสน พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดเชียงราย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้แทนสถานเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ได้ร่วมกับประชุมหาทางออกให้กับเด็กนักเรียน 126 คน สัญชาติเมียนมา ในกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงศึกษาธิการ ผลักดันเด็กนักเรียน 126 คนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ จากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง กลับประเทศเมียนมา เนื่องจากเข้าเมืองผิดกฎหมาย
โดยล่าสุดได้มีผู้ปกครองของเด็กจำนวน 59 ราย ได้ขอประสานรับเด็กกลับไปยังประเทศเมียนมาแล้ว ผ่านช่องทางด่านอำเภอแม่สาย ยังคงเหลืออีก 67 คน ที่ยังไม่สามารถติดต่อพ่อแม่มารับได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากปัญหาการสู้รบในประเทศเมียนมา และบางรายมีญาติมาแสดงตัวเป็นผู้ปกครอง แต่ไม่สามารถนำหลักฐานมายืนยันจึงไม่สามารถรับตัวเด็กไปได้
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า กรณีนี้ต้องมองหลายมิติจะมองเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ต้องคำนึงถึงสิทธิเด็กเป็นเรื่องสำคัญด้วย สิ่งที่เด็กต้องการคือการศึกษาและจะเป็นแรงงานสำคัญของประเทศไทยในอนาคตจะทำให้อย่างไรให้เด็กเหล่านี้เข้ามาศึกษาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นในครั้งนี้จึงหารือร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อสรุปทุกมิติ สำหรับสถานการณ์ของเด็กที่เหลืออยู่นั้นได้พักกับบ้านพักเด็กและขั้นตอนต่อไปคือประสานพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน หากเด็กยังต้องการเรียนก็ได้หารือกับเลขาธิการ สพฐ. เพื่อให้เข้าเรียนในโรงเรียนที่รองรับแต่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องยินยอมด้วย เพราะในประเทศเมียนมาหลายพื้นที่มีการสู้รบและขาดโอกาสทางการเรียน ส่วนกรณีเด็กที่หาตัวพ่อแม่ไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ที่จะจัดหาผู้ดูแลเด็กและอยู่ในการดูแลของบ้านพักเด็ก จ.เชียงราย ด้วย ทั้งหมดถือเป็นมติประชุมและจะดำเนินการให้ได้ข้อสรุปภายในวันศุกร์ที่ 15 ก.ค.นี้เพื่อให้เด็กเหล่านี้รู้ถึงอนาคตตัวเอง
“ปัจจุบันพบเด็กในลักษณะนี้และเรียนอยู่ตามโรงเรียนตามแนวชายแดนมีจำนวนกว่า 70,000-80,000 คน เรื่องการดำเนินการต่างๆ จะต้องประชุมหารือร่วมกันโดยหน่วยงานกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพหลักว่าจะเข้ามาเรียนอย่างไรอย่างถูกต้อง มีสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น อาหาร ยารักษาโรค วัคซีนโควิด-19 เป็นต้น กรณีด้านความมั่นคงหากมีภูมิลำเนาอยู่ที่ชายขอบก็สามารถข้ามแดนเรียนหนังสือได้ แต่ไม่ได้หมายถึงเข้ามาลึกถึงกรุงเทพฯ จ. พระนครศรีอยุธยา หรือ จ.อ่างทอง เพราะโรงเรียนตามแนวชายแดนมีอยู่อย่างเพียงพออยู่แล้ว เพื่อจะได้มีการรักษาสมดุลระหว่างความมั่นคง การบังคับใช้กฎหมายของด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และการศึกษาของเด็กโดยยึดเรื่องสิทธิเด็กเป็นสำคัญต่อไป” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว
ด้าน นางเตือนใจ ดีเทศน์ นักสิทธิ์มนุษยชน และอดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ได้เห็นถึงความร่วมมือของทุกฝ่ายที่หาทางออกให้กับเด็กทั้ง 126 คน เพื่อให้ได้เข้าถึงการศึกษา และยังเห็นถึงความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่สามารถเข้าใจถึงบริบทของสิทธิมุษยชน ในการเป็นตัวกลางในการประชุมและหาทางออกด้านให้เป็นไปตามสิทธิมนุษยชนกับเด็กนักเรียนทั้ง 126 คนด้วย