สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต จัดเวทีวิจัยชาวบ้าน  เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของพืชอาหารตามธรรมชาติในระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง

ที่บ้านสบกก ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย สมาคแม่น้ำเพื่อชีวิต นำโดย นายสมเกียรติ  เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต นาย สายันต์ ข้ามหนึ่ง ผู้อำนวยการสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ภาคสนาม  นำผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทนผู้รู้นักวิจัยชาวบ้าน บ้านสบกก  จำนวน 20 คน เพื่อระดมองค์ความรู้ สภาพปัญหา และแนวทางการแก้ไข จากสถานการณ์การพัฒนาที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงในรอบ 20 ปี  ที่ผ่านที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งในเรื่องระบบนิเวศน์ ปลา เศรษฐกิจ การดำเนินวิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง

ทางชุมชนจึงได้ทำการศึกษา  พืชอาหารในระบบนิเวศริมฝั่งแม่น้ำโขง  ที่มีความสัมพันธ์และสำคัญต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและชุมชน   พืชเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพและสุขภาพของแม่น้ำ เป็นพืชอาหารและสมุนไพรที่คนท้องถิ่นใช้ประโยชน์มายาวนาน การศึกษาเรื่องพืชอาหารมีความสำคัญเนื่องจากเป็นหลักฐานชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแม่น้ำโขง  ทำให้เห็นความเชื่อมโยงและผลกระทบต่อชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมเช่น การหายไปของพืชอาหารจากธรรมชาติกระทบต่ออาหารและรายได้ชาวบ้าน ได้แนวทางในการแก้ไขปัญหา เช่น การอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศ และพืชอาหารยังมีการศึกษาเรื่องนี้น้อย

จากการระดมรายชื่อพืชอาหารที่มีอยู่ในระบบนิเวศริมฝั่ง ปง หาด ดิน ลำห้วย คก วัง พบพืชอย่างน้อย 53 ชนิด เป็นพืชอาหารตามฤดูกาล ขึ้นเองตามธรรมชาติ และสร้างรายได้ให้กับกลุ่มแม่หญิง ปัจจุบันพืชอาหารทั้ง 53 ชนิด ได้ลดจำนวนลง บางชนิดได้หายไป เช่น ผักส้มกุ้ง ผักไหม ไคร้นุ่น ส่วนพืชที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน มีผักหม ผักบุ้ง ผักสีเสียด ผักหนาม ผักกูด ผักขี้กวาง สาหร่ายไก ผักแว่น เตา ผำ เป็นต้น

ส่วนข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยชุมชนบ้านสบกก ได้มีข้อเสนอ 3 ข้อ

  1. ระดมหาพันธุ์พืชท้องถิ่นที่เป็นอาหารและสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่หายไปนำมาปลุกในพื้นที่ของตนเอง เช่น ผักกูด ผักหนาม ผักแซ่ว ผักสีเสียด ผักขี้กวาง
  2. ประสานหน่วยงานขอพันธุ์ปลาเศรษฐกิจมาปล่อยหนองน้ำธรรมชาติในชุมชนที่มี 5 หนอง ให้เป็นแหล่งอาหารสำรองในฤดูแล้งแทนการหาปลาในแม่น้ำโขงที่ไม่สามารถจับปลาในฤดูแล้งได้ และ
  3. ใช้พื้นที่ริมฝั่งลั้งมองท่าก๊กโก่เป็นศูนย์กลางแปลงปลูกพืชอาหารของผู้สูงอายุกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน ให้เป็นแหล่งอาหารหน้าหมู่ของชุมชน

ด้าน นายบุญธรรม ตานะอาจ ผู้รู้บ้านสบกก กล่าวว่า เศรษฐกิจชุมชนบ้านเราหากินลำบาก แต่ก่อนเศรษฐกิจดีเพราะสามารถหาปลาจากแม่น้ำโขงได้  บ้านสบกกขึ้นชื่อเรื่องหมู่บ้านหาปลาขาย ตอนนี้บางวันแทบหาไม่ได้เลย อยากฝากหน่วยงานอยากจะขอพันธุ์ปลาเศรษฐกิจนำมาปล่อยในพื้นที่หนองสาธารณะหมู่บ้านที่มีอยู่ 5 หนอง  เพื่อให้ชุมชนได้หาปลาในช่วงฤดูแล้ง รวมถึงพืชผักท้องถิ่นที่เป็นพืชอาหารที่เคยมีนชุมชนที่แต่ก่อนหาปลาไม่ได้ เราก็ยังเก็บผักกินได้ ตั้งแต่มีการพัฒนา มีตลิ่งเรียงหินพืชกินได้ ที่เคยเก็บก็หายไปหมด

“การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อพืชอาหารจากเวทีวิจัย พบว่ามี 4 สาเหตุได้แก่

  1. เกิดจากสารเคมีจากการเกษตรที่รุกพื้นที่ริมตลิ่ง
  2. การสร้างพนังป้องกันตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำเรียงหินทำให้ระบบนิเวศน์ คก ดอน หาด ผา หายไป
  3. การขึ้นลงผิดปกติของแม่น้ำทำให้ตลิ่งพัง ท่วมพืชอาหาร และ
  4. การสร้างท่าเรือทำให้ระบบนิเวศน์ปง พื้นที่สาธารณะปากแม่น้ำได้หายไป”  นายบุญธรรม กล่าว

ด้าน นายสายันห์ ข้ามหนึ่ง ผู้อำนวยการสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า จากข้อเสนอของชุมชนบ้านสบกก  ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของพืชอาหารโดยชุมชน ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตจะประสานกับทางประมงจังหวัดเชียงราย และทางสนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย เพื่อให้เข้ามาหนุนเสริมการแก้ไขปัญหาของชุมชนอย่างยั่งยืน ตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรี มีคณะกรรมการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อภาคเกษตรกรจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขง และแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ซึ่งพื้นที่จังหวัดเชียงราย เป็น 1 ใน 8 พื้นที่ ที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผนการเร่งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับผบกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง เพื่อให้เกิดพื้นที่รูปธรรมการแก้ไขปัญหาในพื้นที่แม่น้ำโขงจังหวัดเชียงรายต่อไป