วันนี้ 28 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานที่ ห้องประชุมน้อมเกล้า อาคาร ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วย นายวิชานัน นิวาตจินดา รอง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 (เม.ย.-มิ.ย.66) ซึ่งได้มีการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลจากประชาชน 7 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ พนักงานของรัฐ ผู้ประกอบการ พนักงานภาคเอกชน เกษตรกร รับจ้างอิสระ นักศึกษา และผู้ว่างงาน ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (เทพา จะนะ นาทวี และสะบ้าย้อย) รวม 44 อำเภอ 317 ตำบล และ 2,249 หมู่บ้าน เป็นจำนวน 30,000 ตัวอย่าง
โดยผลดัชนีความเชื่อมั่น จชต. ไตรมาส 2 ปี 2566 โดยรวมอยู่ที่ระดับ 54.83 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า ที่ระดับ 55.37 ความเชื่อมั่นด้านความมั่นคง อยู่ในระดับทรงตัว ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ และสังคมปรับลงเล็กน้อย สาเหตุคาดว่ามาจากปัญหาด้านค่าครองชีพสูง รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ปัญหายาเสพติดและการว่างงาน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า ประชาชนใน จ.สตูล มีความเชื่อมั่นสูงสุด อยู่ที่ระดับ 60.20 เนื่องจากความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงอยู่ในระดับสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอีก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา (ระดับ 55.71) นราธิวาส (ระดับ 53.91) ปัตตานี (ระดับ 53.54) และยะลา (ระดับ 53.34) ตามลำดับ
สำหรับปัญหาที่ประชาชนมีความกังวลมากที่สุด พบว่า เป็นปัญหาด้านค่าครองชีพสูง และรายได้ไม่เพียงพอ ซึ่งจากการสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอ ร้อยละ 75 เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น รายได้ลดลง มีภาระค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าการศึกษา ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา และมีหนี้สินตามลำดับ สำหรับปัญหาในพื้นที่รองลงมา เป็นปัญหายาเสพติดที่โดยรวมอยู่ในระดับมาก ยกเว้นจังหวัดสตูลและนราธิวาสมีปัญหายาเสพติดอยู่ในระดับมากที่สุด สอดคล้องกับเรื่องที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในด้านการลดค่าครองชีพ การมีงานทำ ราคาสินค้าเกษตร และการแก้ไขปัญหายาเสพติด
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่น จชต. เพื่อให้มีกลไกและเครื่องมือชี้วัดความเชื่อมั่นในเชิงพื้นที่ที่สามารถวิเคราะห์ทิศทางความเชื่อมั่นของประชาชนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง เพื่อเป็นตัวชี้วัด สะท้อนความเป็นอยู่ของประชาชน 5 จังหวัด และใช้วัดผลประสิทธิภาพการพัฒนาพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐ ว่าสิ่งที่รัฐได้ดำเนินการไปแล้ว มีผลต่อความรู้สึกของประชาชนในมิติต่าง ๆ อย่างไร ทั้งนี้จากดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในไตรมาส 2 ลดลง เรื่องจากเป็นช่วงที่ฤดูใบไม้ร่วง เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้ และมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าเทอมบุตรหลาน เมื่อผลปรากฏในลักษณะนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาในปีถัดไป เพราะระดับดัชนีลดลงเช่นนี้จะเป็นวงจรที่สามารถแก้ไขได้
เลขาธิการ ศอ.บต. ยังกล่าวอีกว่า ความเชื่อมั่นชายแดนใต้ด้านเศรษฐกิจและสังคม จะมีแนวโน้มดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 (ก.ค.-ก.ย.) เนื่องจากเป็นช่วงที่ทุเรียนออกสู่ตลาด ประมาณ 120,000 ตัน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยที่ผ่านมา ศอ.บต. ได้สนับสนุนในการจัดหาวิทยากรที่ประสบความสำเร็จการทำทุเรียนคุณภาพ พาเข้ามาในพื้นที่เพื่ออบรมให้ความรู้เกษตรกร ตั้งแต่การจัดการแปลงทุเรียน ควบคุมคุณภาพสวน พัฒนาและแก้ไขปัญหาแปลงทุเรียน โดยเน้นการสอนปฏิบัติจริง ตั้งแต่ปี 2560 -2565 เริ่มจากเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่นอยากทำทุเรียนคุณภาพ ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 400 ราย สามารถรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ หรือ “กลุ่มทุเรียนหนามเขียว” อ.ธารโต จ.ยะลา สร้างงานให้ประชาชนในพื้นที่ วันละ 160 ราย ในกระบวนการคัดแยกทุเรียนคุณภาพ โดยในปีนี้ มีผลผลิตเข้าวันละ 50-70 ตัน คิดเป็นมูลค่าส่งออกโดยประมาณ 480 ล้านบาท
ทางด้าน นายวิชานัน นิวาตจินดา รอง ผอ.สนค. กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้หลายโครงการและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึง สนค. ยังได้มีการจัดทำเครื่องชี้วัดเพื่อใช้ติดตามความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระทรวงพาณิชย์จะมีส่วนร่วมทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ปรับตัวดีขึ้นต่อไปในอนาคต
อะหมัด รามันห์สิริวงศ์/ยะลา