ชาวนาขอนแก่น วอนจังหวัดพิจารณาปล่อยน้ำช่วยข้าวนาปี หลังฝนทิ้งช่วงนานนับเดือนหากไม่มีน้ำมาเติมข้าวยืนต้นตายนับพันไร่แน่ ขณะที่เทศบาลฯเร่งประสาน ปภ.ขอรับสนับสนุนเครื่องสูบน้ำดึงจากแม่น้ำพองช่วยเหลือชาวบ้าน ยืนยันทำเต็มที่แม้จะถูกตำหนิก็ตาม
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 6 ก.ย.2566 ที่บริเวณริมแม่น้ำพอง วัดบ้านห้วยซัน บ.ห้วยซัน ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายไพรัตน์ ทวีวาร นายกเทศมนตรีเมืองศิลา พร้อมด้วย นายพิทักษ์ชน ช่างเหลา ส.อบจ.ขอนแก่น เขต อ.เมือง และนายสุริยนต์ ติวเฮือง ประธานสภา ทม.ศิลา นำคณะผู้บริหารและสมาชิกสภาฯ ลงพื้นทีทำความเข้าใจกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว บ.ห้วยซัน กว่า 50 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั้งตำบลที่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วงและการบริหารจัดการนำของจังหวัดที่ไม่พิจารณาปล่อยน้ำให้กับเขตชลประทานได้ จนทำให้ขณะนี้ข้าวนาปีของเกษตรกร เฉพาะที่ บ.ห้วยซัน รวมกว่า 1,000 ไร่ที่กำลังเริ่มตั้งท้องหากไม่มีน้ำสู่แปลงนาในระยะนี้ข้าวยืนต้นตายทั้งหมดแน่
นายสมบัติ แสนสมบัติ ผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยซัน กล่าวว่า แปลงนาปีของเกษตรกร บ.ห้วยซัน ปีนี้กว่า 1,000 ไร่ กำลังจะยืนต้นตายเนื่องจากประสบปัญหากับภาวะฝนทิ้งช่วงมานานกว่า 1เดือนแล้ว ดินแตกระแหงไปหมด มีช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่เขื่อนอุบลรัตน์ได้ระบายน้ำออกมา และได้มีการปล่อยเข้าเขตชลประทานเพื่อให้เกษตรกรได้ปลูกข่าวแต่ก็ปล่อยน้ำได้เพียง 7 วันเท่านั้น จากนั้นก็มีการปล่อยน้ำใดๆมาอีกเลยทั้งที่ช่วงนี้เป็นข้าวนาปี ก็ควรที่จะได้รับการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรด้วย
“ปีที่แล้ว บ.ห้วยซัน และอีกหลายหมู่บ้านน้ำท่วม เกษตรกรก็ทำนาไม่ได้ ปีนี้ แรกๆก็มาดี มีการประกาศว่าจะบริหารจัดการน้ำในรูปแบบต่างๆไม่ให้เกิดน้ำท่วม ชาวบ้านก็ดีใจทำข้าวนาปีกันทั้งหมู่บ้านกว่า 1,000 ไร่โดยเป็นข้าวเจ้า ประมาณร้อยละ 20 และข้าวเหนียว ร้อยละ 80 อยู่ๆก็ได้รับแจ้งว่าชลประทานงดการระบายน้ำเพื่อต้องเก็บกักน้ำไว้ช่วงหน้าแล้ง ชาวนาซึ่งลงทุนไปก็ต้องรอฟ้าฝน ว่าจะเป็นใจหรือไม่ อย่างวัน สองวันนี้ ฝนก็ตกแต่ดินก็ไม่อุ้มน้ำเพราะที่ผานมาแห้งแล้งมาก ดังนั้นหากไม่มีน้ำเข้ามาที่นาของลาวบ้านยืนยันว่าข้าวนาปีที่ปลูกไว้เฉพาะ บ.ห้วยซัน นับพันไร่ต้องยืนต้นตาย”
ขณะที่นายไพรัตน์ ทวีวาร นายกเทศมนตรีเมืองศิลา กล่าวว่า พื้นที่ ต.ศิลา ฝนทิ้งช่วงมาเกือบ 1 เดือนแล้ว แม้จะมีฝนตกลงมาบ้างแต่ดินก็อุ้มน้ำไม่ได้ ไม่เพียงพอที่จะให้ต้นข้าวในที่นาของเกษตรกรได้ดูดซับน้ำหรือมีน้ำตลอดทั้งช่วงของการทำนา ดังนั้นเมื่อเป็นความเดือดร้อนของประชาชน เทศบาลฯต้องหาทางแก้ไข โดยไม่ขัดต่อระเบียบและข้อกฎหมายแม้จะถูกตำหนิบ้างแต่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนเทศบาลฯและ สจ.พื้นที่ต้องทำทันที
“ วันนี้ได้มีการประสานขอยืมเครื่องสูบน้ำจาก ปภ. 2 เครื่อง เพื่อตั้งที่ บ.ห้วยซัน และ บ.ดงพลอง เป็นจุดแรก ซึ่งก็หวังว่า ปภ.จะพิจาณาสนับสนุนเครื่องสูบน้ำระยะไกลให้ตามการร้องขอเพราะชาวบ้านเดือดร้อนจริงๆ ซึ่งเมื่อทำการติดตั้งแล้วเสร็จก็จะเริ่มสูบน้ำจากแม่น้ำพอง ให้ไหลลงร่องระบายน้ำของหมู่บ้านและไหลลงสู่ห้วยซัน และลำน้ำสาขาเพื่อให้เกษตรกรได้สูบน้ำเข้านาหล่อเลี้ยงต้นข้าวจนถึงช่วงฤดูเก็บเกี่ยวในเดือน พ.ย. ซึ่งหากไม่ดำเนินการใดๆเฉพาะที่ บ.ห้วยซัน มีกว่า 1,000 ไร่ ไม่นับรวมอีกหลายหมู่บ้านของ เขต ต.ศิลา จะมีมูลค่าความเสียหายของข้าวนาปีจะมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้อย่างแน่นอน”