วันที่7 กันยายน 2566 ณ แก่งผาได บ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น เครือข่าย Thai Climate Action Network (Thai C-CAN) และองค์กรภาคประชาสังคม ได้ลงพื้นที่รณรงค์ต่อต้านทุนผูกขาดพลังงานไฟฟ้าเขื่อนแม่น้ำโขง ภายหลังจัดเวทีเสวนา “ค่าไฟ ชุมชน โลกร้อน ความไม่เป็นธรรมพลังงานไทย ณ โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผานมา โดยมีผู้เข้าจากองค์กรภาคเอกชน และนักวิชาการเข้าร่วมกว่า 100 คน
นายประจักษ์ ศรีคำภา รองเลขาธิการ ฝ่ายประสานงานไทย C-CAN (Thai Climate Change Action Network) กล่าวว่า ในวันที่ 6-7 กันยายน ทางเครือข่ายฯ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน และเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง ได้จัดเสวนาร่วมกันและจัดกิจกรรมรณรงค์ หาแนวทางและกำหนดท่าทีในข้อเรียกร้องร่วมกันเพื่อเสนอ Thai Climate -Action ต่อความท้าทายเรื่องพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อหยุดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และรณรงค์เรื่องพลังงานต้องเป็นธรรม ในการประชุม COP 28 ภาคประชาชน ในวันที่ 26-28 ตุลาคมนี้ เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมาการให้ทุนปลูกป่า และกิจกรรมอื่นๆ ไม่ตอบโจทย์ชุมชน และประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
“การมาประชุมที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ ของกลุ่มรักษ์เชียงของ เพราะเห็นว่าขณะนี้กำลังรณรงค์ต่อต้านโครงการเขื่อนปากแบง ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้า (PPA) จากเขื่อนพลังน้ำปากแบง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อชุมชนลุ่มน้ำโขงที่ได้รับผลกระทบ และขณะนี้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยมีปริมาณสูง การรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากโรงไฟฟ้าแห่งใหม่จึงทำให้ต้นทุนพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เป็นภาระประชาชนที่จะอยู่ในค่า ft ที่ต้องจ่ายเพิ่ม” นายประจักษ์กล่าว
นายนิวัติ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้กล่าวเปิดงานในเวทีเสวนาว่า กว่า 2 ทศวรรษที่เขื่อนได้ทำลายแม่น้ำโขง ผลกระทบทั้งเรื่องการไหลไม่เป็นธรรมชาติ ระดับน้ำโขงไม่เป็นตามฤดูกาล ทำลายระบบนิเวศ วิถีชีวิตคนลุ่มน้ำ กว่า 20 ปีที่ต่อสู้มาทั้งในเรื่องระเบียบข้อกฎหมาย ฟ้องศาลปกครอง แต่กฎหมายของไทยไม่ครอบคลุมผลกระทบข้ามแดน การฟ้องคดีทั้งที่รู้ว่าไม่มีทางชนะ แต่เพื่อให้เห็นประเด็นปัญหา เพื่อให้สังคมพิจารณาผลกระทบ ความเดือดร้อน ประเด็นเรื่องธรรมาภิบาลที่อ้างอธิปไตยเขตแดน แต่กลับไม่มองถึงผลกระทบข้ามแดนที่เกิดกับนิเวศและประชาชน อำนาจยังอยู่ที่รัฐและทุนใหญ่ จึงมองว่าการสร้างเขื่อนเพื่อเงิน เพื่อกำไรของทุนเท่านั้น เพราะเห็นได้ว่าไฟฟ้าสำรองก็ล้นเกิน และในอนาคตยังมีพลังทางเลือกอีกมากมาย
ผศ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวว่า ต้องสร้างประชาธิปไตยพลังงาน ตราบใดที่รัฐและทุนคุมเขื่อน ปัญหาโลกร้อน และน้ำมันแพงก็จะคงอยู่ จึงต้องเพิ่มพลังประชาชน สิทธิความเป็นมนุษย์ ที่ต้องการอากาศบริสุทธิ์ ต้องการพลังงานที่เป็นธรรม ประชาธิปไตยพลังงานจะต้องมีความยืดหยุ่น ขณะที่พลังงานสะอาดเช่นพลังงานแสงอาทิตย์มีการศึกษาว่า หากโลกนี้เก็บพลังงานแสงอาทิตย์เพียง 8 นาที จะสามารถป้อนพลังงานให้คนทั้งโลกใช้ได้ตลอดทั้งปี สมัยก่อนเทคโนโยลีแพงในการเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ปัจจุบันสามารถทำได้ แต่มีกลุ่มคนยืนบังอยู่ ทั้งนักการเมือง พ่อค้าฟอสซิล ขณะที่โลกนี้สามารถเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าได้ พอๆ กับเทคโนโลยีมือถือที่ผลิตให้คนใช้ แต่รัฐกับทุนกลับเลือกแต่การผลิตมือถือ แต่ไม่ลงทุนเก็บพลังงานแสงอาทิตย์และนำมาใช้ เพราะไม่ได้กำไร ปัจจุบันรัฐบาลใหม่เรามักได้ยินว่า จะลดค่าไฟฟ้าทันที ไม่แน่ใจว่าจะเป็นการลดภาษี การยืดชำระหนี้ของ กฟผ. ที่จะทำให้ราคาน้ำมันลดทันที แต่ไม่ลดต้นทุนอื่น และกระเป๋านายทุน ยังมีกำไรเท่าเดิม ขณะที่ประเทศต้องนำเข้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นทุกปีซึ่งทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และยังมีความไม่เป็นธรรมเช่นประเทศไทยไม่มีการเก็บภาษีลาภลอย ไม่มีการยืดหยุ่น ให้ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นเราต้องมีกำลังใจสู้กับอธรรมอย่างไม่ยอมรับกลไกตื้นๆ ของมัน
น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวว่า สำหรับการสร้างเขื่อนปากแบงที่ได้มีการลงนาม tariff MOU ไปก่อนหน้านี้ แต่สัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ กฟผ.คาดว่าจะยังไม่มีการลงนาม ซึ่งก็มีความกังวลอย่ามากกับภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ริ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะใน อ.เชียงของ และเวียงแก่น เนื่องจากผลกระทบจากน้ำเท้อ ผลกระทบจากน้ำที่จะมาท่วมถึงแผ่นดินไทย การเปลี่ยนแปลงเส้นพรมแดนไทย-ลาว ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังไม่มีข้อยุติจนกระทั่งปัจจุบัน ข้อหนึ่งที่ค่อนข้างกังวลมากกว่านั้นก็คือความชอบธรรมของ กฟผ.ในนามของรัฐบาลไทยในการโรงงานซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนก็จะมีปริมาณสัดส่วนถึงอยู่เกือบ 1,000 เมกะวัตต์ว่าเราจะรับซื้อเพิ่มทำไมเนื่องจากไฟฟ้าในระบบในขณะนี้มีมากเสียถึงมากกว่าครึ่งอยู่แล้วแล้วก็การที่รับซื้อไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มจากโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ด้วยสัญญา 6,000 เมกะวัตต์ ใน 29 ปีหรือ 35 ปีเหมือนกับโครงการอื่นๆของแม่น้ำโขง เช่นโครงการหลวงพระบาง มันทำให้เรากังวลว่าเท่ากับว่าเป็นการปรับภาระให้กับพวกเราผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนต้องช่วยกันจ่ายค่าความพร้อมจ่ายของคงโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แห่งใหม่ที่กำลังจะในการลงนามอย่างเช่นกรณีเขื่อนปากแบงเป็นต้น
“ข้อเรียกร้องจากภาคประชาชนก็คือทำอย่างไรที่กระบวนการวางแผนไฟฟ้าของประเทศไทยการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าใหม่ๆ มาจากการมีส่วนร่วมจากประชาชนมากที่สุดจะได้กลายเป็นการพิจารณาอย่างรอบคอบดูว่าทำอย่างไรที่เราจัดการไฟฟ้าโดยไม่เป็นการผลักภาระให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนเนื่องจากอย่างน้อย 2 ปีที่ผ่านมาปัญหาค่าไฟแพงเป็นสิ่งที่อยู่ในความกังวลใจของประชาชนทุกคนแล้วก็เราอยากจะเห็นว่าทำอย่างไรพวกค่าไฟจะเป็นธรรมทำอย่างไรเพิ่มจะไม่มีการลงนามกับสัญญาผูกพันกับโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆก็เป็นความกังวลใจเป็นอย่างมากของประชาชนในเวลานี้ เนื่องจากเป็นปัญหาร่วมของคนทั้งประเทศไม่ใช่แค่ชาวบ้านเชียงของหรือเวียงแก่น ซึ่งจะมีการพูดคุยเรื่องค่าไฟที่เป็นธรรมมากขึ้น การจัดเวทีต่างๆ รวมทั้งการจัดมหกรรมแม่น้ำโขง ซึ่งจมีการจัดขึ้นในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของประชาชนที่หวงแหนแม่น้ำโขงที่อยากเห็นการบริหารพลังงานของประเทศมีความรับผิดชอบมากขึ้นและเป็นธรรมมากขึ้น” ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าว
นายนิวัติ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวถึงกรณีเขื่อนปากแบงว่า เป็นเขื่อนที่มีผลกระทบกับทางตอนเหนือก็คือ อ.เวียงแกน อ.เชียงของ ไปถึง อ.เชียงแสน ซึ่งมันเป็นเขื่อนที่เรามองว่าทั้งการศึกษาในเรื่องชองน้ำเท้อ ในเรื่องของน้ำท่วม ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งพี่น้องชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นจริง จึงมองว่าการสร้างเขื่อนตัวนี้จะต้องมีการพูดคุยกันให้มากกว่านี้ในเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และสิ่งสำคัญก็คือในวันที่ 15 ก.ย.นี้ จะมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มาจัดเวที เพื่อให้ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( สทนช. ) กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องเขื่อนและผลกระทบเข้ามาชี้แจงให้พี่น้องชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นโอกาสที่สำคัญที่หน่วยงานภาครัฐจะได้รับฟังปัญหาของเขื่อนปากแบงซึ่งมันมีผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของน้ำเท้อ ที่จะเข้ามาท่วมพื้นที่เกษตรของพี่น้องชาวบ้าน พื้นที่เกาะดอน ซึ่งพี่น้องประชาชนคนไทยเคยใช้ประโยชน์ ซึ่งหากมีการสร้างเขื่อนเกาะดอนพวกนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว เรื่องนี้ผมถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศไปด้วย เพราะฉะนั้น เรื่องเขื่อนปากแบงจะต้องมีการทบทวนให้มาก
“ผมคิดว่าการอ้างเขื่อนปากแบงเพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้า มันอ้างไม่ได้แล้วมันเห็นชัดเจนว่าพลังงานสำรองในบ้านเรามีเท่าไหร่ มันเกินไปเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันกำลังจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับการซื้อไฟฟ้า มันเป็นเรื่องของการค้า เรื่องของเงิน มากกว่าเรื่องของความจำเป็นในสิ่งที่ต้องการบริโภคของพี่น้องบ้านเรา” นายนิวัฒน์ กล่าว
โดย เครือข่าย Thai Climate Action Network (Thai C-CAN) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการสร้างเขื่อนปากแบงโดยระบุว่า “ประเทศไทยกลับมีความพยายามเพิ่มโรงไฟฟ้าโดยไม่มีความจำเป็นโดยเฉพาะการลงทุนสร้างเขื่อนปากแบงขวางลำน้ำโขงเพื่อผลิตไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาชนลาวเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ของนายทุนเพียง 2 กลุ่มใน 2 ประเทศคือจีนและไทย ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงกระทบต่อระบบนิเวศ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนทั้งในฝั่งลาวและฝั่งไทย นอกจากนั้นคนไทยทั่วทั้งประเทศที่เป็นผู้ใช้พลังงานไฟฟ้ายังต้องแบกรับภาระในการจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่แสนแพงเพื่อรักษาเสถียรภาพทางแผนพลังงานและเศรษฐกิจให้กับนายทุนพลังงานที่ได้รับผลประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมด้านพลังงานไฟฟ้า ดังนั้นเครือข่าย Thai C-CAN ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรที่จับตาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จึงขอเรียกร้องให้เกิดการกระจายอำนาจในการจัดการพลังงานไฟฟ้าอย่างเท่าเทียม โดยการเร่งกำหนดนโยบายเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม และเรียกร้องให้หยุดการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าข้ามแดนที่เกินความจำเป็น”