ถ้าให้พูดถึง “มะโย่ง” หรือ เมาะโย่ง ศิลปะการร่ายรำที่ผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวมาลายู ในอดีตเป็นที่นิยมจัดแสดงตามงานต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กำลังจะสูญหายไป ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ บ้านกือเม็ง หมู่ที่ 1 ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา เมื่อวันที่ 8 ก.ย.66 ที่ผ่านมา ไปชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวมาลายู “มะโย่ง” หรือ เมาะโย่ง มีลีลาคล้ายคลึงกับมโนราห์มาก เป็นศิลปะการร่ายรำที่ผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ และดนตรีเข้าด้วยกัน ที่ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชพิพิธภัณฑ์บ้านกือเม็ง
โดยมีนายสมาน โดซอมิ ประธานศูนย์ ได้จัดขึ้นร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา เครือข่าย SILAT SERI KEMBANG รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย และผู้รู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องประเพณีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น มะโย่ง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อภายใต้โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้การแสดงศิลปะพื้นบ้าน ให้กับนักศึกษา ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา นักศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา และคณะอาจารย์จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา เพื่อการอนุรักษ์ สืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวมาลายู ให้คงอยู่ในพื้นที่
การแสดง มะโย่ง จะเริ่มจากทำพิธีเบิกโรง พิธีเริ่มด้วยผู้แสดงและคนเล่นดนตรีเข้ามานั่งล้อมกันเป็นวงกลม เครื่องดนตรีบรรเลงโหมโรง เสร็จจากเบิกโรง ตัวพระ ตัวนาง และพี่เลี้ยง นั่งเป็นแถวครึ่งวงกลมหันหน้าเข้าหาคนซอ และขับร้องคลอกับเสียงซอ แล้วลุกขึ้นเดินร่ายรำและร้องเพลงไปรอบๆ เวที ทำนองการรำเบิกโรง หลังจากนั้นตัวละครก็จะกลับไปนั่งรอคอยบทบาทที่ตนจะต้องแสดงอยู่ข้างขอบเวที คงเหลือแต่ตัวมะโย่งยืนขับร้องและเจรจาแนะนำตัวให้ผู้ชมทราบว่าเป็นผู้ใด อยู่ที่ไหน กำลังจะทำอะไรในท้องเรื่อง จากนั้นตัวมะโย่งเรียกตัวตลกหรือเสนาให้ออกมา แล้วพูดจาถ้อยคำที่ตลก ขบขัน ตามบทของเรื่องที่ได้เตรียมมา จนจบการแสดง
นายสมาน โดซอมิ ประธานศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชพิพิธภัณฑ์บ้านกือเม็ง ได้เปิดเผยว่า ในอดีตการแสดง มะโย่ง เป็นศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นที่รู้จักในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ปัจจุบัน “มะโย่ง” ศิลปะการแสดงพื้นบ้านชาวมาลายู นับว่าหาดูได้ยากแล้ว และกำลังจะหายไป เนื่องจากผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องประเพณีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น มะโย่ง ค่อยๆ ล้มหายตายจาก ทั้งผู้แสดง และนักดนตรี จึงได้มีร่วมสืบสานศิลปะการแสดงแขนงนี้ โดยการประสานกับเครือข่ายนักแสดง ผู้มีความรู้ตลอดจนนักดนตรีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และทางฝั่งรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เพื่อมาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเยาวชน นักศึกษา ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา นักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และคณะอาจารย์จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา เพื่อการอนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ในพื้นที่
นางนุชนาถ ละอองศรี ได้เปิดเผยว่า ตนเองมีเชื้อสายศิลปิน เป็นครูหมอมโนราห์ ผู้สืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้าน มาจากบรรพบุรุตที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสน่ห์การแสดง มะโย่ง จะแตกต่างจากมโนราห์ของภาคใต้ ทั้งการแต่งกาย เครื่องดนตรี โดยเฉะพาะเสียงของปี่ชวา กลองแขก ฆ้อง และซองา นอกจากนี้การดำเนินเรื่อง อยู่ที่บทรำเกี้ยวของตัวมะโย่ง ที่ทำให้คนดูสนุกสนาน เพลิดเพลินกับการแสดง ทุกวันนี้ พร้อมที่จะถ่ายทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านแขนงนี้ให้กับผู้ที่สนใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สืบทอดมาจากบรรพบุรุต ขอเพียงใจรัก และต้องการสืบสานวัฒนธรรมแขนงนี้
อะหมัด/มาวันดี/ยะลา