ผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกับ จังหวัดเชียงราย ชู 3 วิตามิน ฮีโร่ ป้องกันความพิการแต่กำเนิดนำร่องจังหวัดเชียงราย

วันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ห้องประชุมจอมกิตติ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประชุมติดตามโครงการศึกษาการดำเนินงาน จังหวัดนำร่องป้องกันและลดอัตราความพิการแต่กำเนิด (Birth Defects Sandbox) จังหวัดเชียงราย โดยมี นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พุ่งเป้าเน้นงานด้านการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องการบริโภควิตามินโฟลิก เอซิด วิตามินเฟอร์โรโฟลิกก่อนการตั้งครรภ์ และวิตามินไตรเฟอร์ดีนขณะตั้งครรภ์ พร้อมตั้งคณะกรรมการ 3 ด้าน สู่สถานศึกษา สถานประกอบการ และชุมชน หวังดันเชียงรายเป็นโมเดลขยายผลทั่วประเทศ

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า จากรายงานของสภากาชาดไทยที่พบว่าเด็กเกิดใหม่กว่า 700,000 รายต่อปีนั้น มีเด็กจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 รายที่พิการแต่กำเนิด หากทุกฝ่ายไม่ระดมแก้ไขปัญหาตัวเลขเด็กพิการแต่กำเนิดจะเพิ่มขึ้นทุกปี ดั้งนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาผู้ตรวจการแผ่นดินจึงระดมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการให้ครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 55 ที่กำหนดให้รัฐจะต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ประกอบกับที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้แก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับหญิงตั้งครรภ์จะต้องรับประทานวิตามินโฟลิก เอซิด(วิตามิน B9) ขนาด 400 มิลลิกรัม ทุกวันก่อนการตั้งครรภ์

เน้นช่วงสามเดือนแรกก่อนตั้งครรภ์และต่อเนื่องอีกสามเดือนแรกที่ตั้งครรภ์เพื่อป้องกันปัญหาความพิการในเด็กทารกแรกเกิด โดยเสนอแนะให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการผลิตโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ขนาด 400 ไมโครกรัม และจัดเข้าหมวดยาแทนหมวดอาหารเสริม เพื่อให้สามารถแจกจ่ายให้ประชาชนรับประทานได้ตั้งแต่ปี 2563

นายสมศักดิ์ กล่าวเสริมว่า เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการรณรงค์ สนับสนุนให้หน่วยงานขับเคลื่อนและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ได้เลือกจังหวัดเชียงรายนำร่องเตรียมถอดบทเรียนเพื่อเป็นแนวทางให้กับทุกจังหวัดได้ตระหนักถึงประโยชน์ของ 3 วิตามิน ด้วยการจัดโครงการศึกษาการดำเนินงานจังหวัดนำร่องป้องกันและลดอัตราความพิการแต่กำเนิด (Birth Defects Sandbox) จังหวัดเชียงราย พร้อมทั้งจัดตั้งคณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อนและประชาสัมพันธ์ตามกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

  1. คณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อนและประชาสัมพันธ์ด้านสถานศึกษา
  2. คณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อนและประชาสัมพันธ์ด้านสถานประกอบการ
  3.  คณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อนและประชาสัมพันธ์ด้านชุมชน

ซึ่งคณะทำงานแต่ละด้านนี้จะร่วมกำหนดแผนบูรณาการการประชาสัมพันธ์ของจังหวัด แผนปฏิบัติการประจำปีควบคู่กับการแจกจ่ายกระจายวิตามินดังกล่าวให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและมีการใช้อย่างถูกต้อง ซึ่งคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาแต่ละด้านนี้ต้องร่วมกันขับเคลื่อน รวมทั้งการสร้างความรับรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการรับประทานโฟลิก เอซิด การบริโภคเฟอร์โรโฟลิก และไตรเฟอร์ดีน ก่อนการตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์ หรือหลังมีครรภ์แล้ว รวมถึงการให้ตระหนักรู้ถึงอันตรายในการขาดวิตามิน และสิ่งสำคัญจะต้องมีระบบรายงานการเก็บข้อมูลสถิติผลการปฏิบัติงานหลังจากกลุ่มเป้าหมายได้รับวิตามินไปแล้ว รวมถึงปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ เมื่อมีการจัดตั้งคณะทำงานแล้วจะได้มีการประชาสัมพันธ์ร่วมกันให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

เน้นสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องของทุกภาคส่วนจะได้เกิดผลเป็นอย่างรูปธรรม โดยจะนำผลจากการดำเนินโครงการที่ได้นั้นสรุปถอดเป็นบทเรียนรูปแบบการดำเนินการของจังหวัด และจัดทำคู่มือการดำเนินงานเป็นต้นแบบขยายผลการดำเนินงานไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถลดปัญหาเด็กพิการแต่กำเนิดและมีแนวโน้มสะสมเพิ่มขึ้นทุกปีได้