DSI มอบสัญชาติไทยแก่โอรังอัสลี (ซาไก) ช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ตามนโยบายของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ซึ่งมุ่งเน้นในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนในทุกพื้นที่ อย่างทั่วถึง โดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของยุติธรรมชุมชน ยุติธรรมสร้างสุข
วันที่ 21 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจตรี จตุพล บงกศมาศ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ได้มอบหมายให้ นายชยพล สายทวี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงพื้นที่ร่วมกับ นายวิรุต ตรียวง ปลัดอาวุโส อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายอำเภอธารโต พันตำรวจโท คมสันต์ ทองส่งโสม ผู้บังคับกองร้อยรบพิเศษที่ 4 (พลร่ม) เพื่อมอบบัตรประจําตัวประชาชน ให้กับโอรังอัสลี (ซาไก) และเด็กนักเรียนที่โรงเรียนบ้านเย๊าะ (สันติ2) ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเด็กนักเรียนและโอรังอัสลี ซึ่งเป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน จำนวนหลายราย ให้ได้รับการพิจารณา ลงรายการสัญชาติไทยและได้รับบัตรประจำตัวประชาชน ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 และได้มอบเครื่องอุปโภค บริโภค ให้กับหัวหน้าเผ่าโอรังอัสลี เพื่อนำไปให้กับคนในหมู่บ้านซึ่งมีจำนวนกว่า 90 ครัวเรือน
ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะได้ดำเนินการช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ได้แก่ กลุ่มชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ (ที่เป็นบุคคลตกหล่น) กลุ่มบุคคลสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ที่เป็นคนไทยติดแผ่นดิน กลุ่มเด็กตัว G (บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน) และกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่อำเภอเบตง อำเภอธารโต และอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ให้ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนต่อไป
โอรังอัสลี (ซาไก) ต่างดีใจที่ทาง DSI และหน่วยงานของรัฐที่มอบความสุขด้วยการที่ให้คนชาติพันธ์โอรังอัสลี ได้เป็นประชาชนคนไทย 100% แล้ว พร้อมที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีเอกภาพ นำไปสู่การวางแผนการขับเคลื่อนงานสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรม สิทธิขั้นพื้นฐาน และการได้รับการปกป้องช่วยเหลือจากภาครัฐ หนึ่งในโอรังอัสรลี กล่าวหลังได้รับบัตรประชาชน ว่า
“กลุ่มต้องการให้ภาครัฐ หาแนวทางการส่งเสริมในด้านอาชีพ ให้อยู่ในสังคมได้ตามศักยภาพ การดูแลบุตรในด้านการศึกษา เชื่อว่าความเป็นอยู่ของตนและกลุ่มโอรังอัสลีจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยของโลก เพราะการศึกษาทำให้ลูกหลานของโอรังอัสลีมีอนาคต มีการงานทำเหมือนคนไทยทั่วๆไป”
อะหมัด/มาวันดี/ยะลา