ศูนย์ชีวาภิบาล รพ.ปัตตานี เปิดตัวครบวงจร ดูแลชีวิตของผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีถึงวาระสุดท้าย เน้นการทำงานเป็นเครือข่ายแบบองค์รวม เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากที่สุด
ศูนย์ชีวาภิบาล มีทรัพยากรเครือข่ายอาสาสมัคร เช่น การเยี่ยมเยียนแบบเพื่อน ส่งเสริมความรู้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยการจัดการเรียน การสอน กิจกรรมวิชาการ และการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
หลักการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยของรพ.ปัตตานี ประกอบด้วย ทีมสหสาขาวิชาชีพ (แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร) เป็นทีมเสริมจากทีมแพทย์และพยาบาลหลัก ดูแลผู้ที่ป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หายขาด ตั้งแต่การวินิจฉัย ดูแลต่อตลอดการรักษาจนเสียชีวิต ติดตามดูแลหลังสูญเสีย เน้นการทำงานแบบองค์รวม 4 ด้าน คือ ด้านกาย ด้านจิตใจอารมณ์ ด้านสังคม และด้านจิตวิญญาณ เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด
การดูแลแบบประคับประคองคือ ดูแลผู้ป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หายขาด ให้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการจัดการอาการทางกาย และให้การดูแลทางด้านจิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ มีการวางแผนการดูแลล่วงหน้า เตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัย ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต
ผู้ป่วยระยะท้ายที่มีความต้องการการดูแลแบบประคับประคอง หมายรวมถึง “ระยะท้ายของโรคหรือการรักษา” และ “ผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต” โดยทั่วไป คือ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด อยู่ในภาวะทรุดลงเรื่อย ๆ ก่อนเสียชีวิต และคาดการณ์ว่าจะเสียชีวิตภายในไม่เกิน 6 เดือน ถึง 1 ปี เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง โรคติดเชื้อบางชนิด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางระบบหายใจ และ โรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อระยะที่ซับซ้อน รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะโรคเฉียบพลันที่คุกคามชีวิต เช่น ภาวะช็อคจากการติดเชื้อ หรือการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ
“เป็นงานที่ทำอยู่ ทำให้จัดการง่ายขึ้น มีคนไข้หลายเคสที่ยังไม่ได้เข้ามารพ. การคัดเลือกเคสผ่านทางอสม. และญาติ จะทำให้ได้รับการดูแลจนวาระสุดท้าย เคสลองเทอม 50-60 คน เคสรับเข้าระบบ 10-20 คน อาจเป็นเคสที่คนไข้ต้องการกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน หรือเคสจากโอพีดีที่หมอเห็นว่าการรักษาแบบพุ่งเป้าอาจทำให้คนไข้ทรมาน เรามีเครือข่ายครอบคลุมทั้ง 3 จชต. โดยใช้ระบบการเยี่ยมบ้านเหมือนกัน เรามีคนไข้ข้ามจังหวัด ส่วนภายในจังหวัดมีพยาบาลดูแลต่อเนื่อง มีเจ้าหน้าที่บริการครบวงจร ประสานงานกับแต่ละที่ เน้นการดูคุณภาพชีวิตของคนไข้ เพื่อให้จากไปอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากที่สุด” พญ.ชเนตตา หัตถา ประธานศูนย์ชีวาภิบาล รพ.ปัตตานี กล่าว
ปัจจุบัน รพ.ปัตตานี เป็นต้นแบบของศูนย์ฯ ในการประสานการบริบาลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตจนวาระสุดท้าย ครอบครัวยอมรับและปรับตัวได้ มีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยด้านวิชาการคือ ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงความคิดและแนวทางการแจ้งข่าวร้ายในโรงพยาบาล ร่วมเขียนหลักสูตรการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้กับเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ (กสพท.) ส่วนด้านบริการ สร้างโปรแกรมปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ของโรงพยาบาล ชื่อ “IPDADE 27 บันทึกข้อมูล Consult ศูนย์ชีวาภิบาล” เป็นแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2555 เป็นแกนประสานให้เกิดทีมการทำงานเพื่อดูแลผู้ป่วยโดยให้หลัก patient and family centered care ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ มีเครือข่ายอาสาสมัครข้างเตียงผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยจัดอบรมนิสิตแพทย์
การให้บริการของศูนย์ รับปรึกษาและดูแลผู้ป่วยใน ติดตามผู้ป่วยที่บ้าน การดูแลผู้ป่วยนอก บริการฝังเข็มและแพทย์ทางเลือก ติดตามญาติผู้ป่วยภายหลังการสูญเสีย จัดอบรมและกิจกรรมวิชาการเกี่ยวกับการดูแลประคับประคอง จัดอบรมและติดตามการปฏิบัติงานของอาสาสมัคร/จิตอาสา