ปูทะเลสร้างรายได้และต่อยอดอาชีพให้พื้นที่ชายแดนใต้มหาศาล ไม่พอความต้องการของตลาด ม.สงขลานครินทร์ วิจัยร่วมกับหลายหน่วยงานเพาะเลี้ยงลูกปูเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ลดการนำเข้าแม่ปู
จากการเพาะเลี้ยงปูทะเลครบวงจร ณ โรงเพาะฟัก ม.อ.ปัตตานี เกิดการผลิตแม่ปูทะเลที่มีคุณภาพ นำแม่ปูไปให้บริการแบบให้เปล่าแก่โรงเพาะฟักทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศทดแทนการนำเข้าแม่ปูจากต่างประเทศ ส่งเสริมเทคโนโลยีการใช้ลูกปูให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงต่อในบ่อดิน สร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการเลี้ยงปูในอนาคต
โครงการวิจัยการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเลในพื้นที่ภาคใด้สู่การเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การตลาด และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ พัฒนาการของการเพาะเลี้ยงแม่ปูทะเล
โครงการวิจัยฯ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้ของวิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และผู้ประกอบการในพื้นที่ให้เพิ่มขึ้น ด้วยเทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงปูทะเลครบวงจร การสร้างสภาพแวดล้อมและห่วงโซ่อุปทานในการผลิตและการพัฒนาต้นแบบ สู่การพัฒนาปูทะเลให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ โดยบูรณาการความเชี่ยวชาญของนักวิชาการ หน่วยงาน ด้วยการวิจัยแบบมีส่วนร่วมจาก ม.เกษตรศาสตร์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ กรมประมง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คือ การสร้างองค์ความรู้จากการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเลในอนาคต การขยายผลองค์ความรู้เดิมและพัฒนาการเลี้ยงปูทะเลสู่พื้นที่อื่นของประเทศ และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าของปูทะเลไทย
รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนัวตกรรม จ.ปัตตานี /คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี กล่าวถึงความก้าวหน้าของพัฒนาการเพาะพันธุ์และเพาะเลี้ยงปูทะเล จนยกระดับเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่มีบทบาทอย่างสูงในการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ แก้ไขปัญหาความยากจนแก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เป็นดอกผลจากงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเลี้ยงปูทะเลให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ของประเทศสู่เมืองปูทะเลโลก จากการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งมุ่งให้เกิดการค้นคว้าหาความรู้ในการเพาะฟักลูกปู จากแม่พันธุ์ปูที่มีไข่นอกกระดอง เพื่อขยายพันธุ์ปูทะเล และเพิ่มปริมาณปูทะเลให้เพียงพอที่จะส่งเสริมเป็นอาชีพที่มั่นคง
รศ.ดร.ซุกรี กล่าวถึงการเน้นการศึกษาระบบและโครงสร้างการตลาดของปูทะเลและการสร้างผู้ประกอบการท้องถิ่นสำหรับห่วงโซ่การเพาะเลี้ยงปูทะเลและการตลาดในจังหวัดสตูลและปัตตานีว่า
“ผลจากการดำเนินงานสามารถพัฒนาแม่พันธุ์ปูทะเลรุ่น F2 แล้ว และกำลังดำเนินการเลี้ยงปูประชากร F3 ในบ่อดิน สามารถผลิตแม่ปูที่มีไข่นอกกระดอง 115 ตัว นำไปให้บริการแก่โรงเพาะฟักปูทะเลภายในประเทศ จนในปี 2566 แทบจะไม่มีการนำเข้าแม่ปูจากต่างประเทศอีกเลย หน่วยงานที่ร่วมโครงการฯผลิตลูกปูระยะเมกาโลปาได้ 2,386,900 ตัว ลูกปูระยะปูเล็ก 2 ได้ 2,324,310 ตัว โดยปูที่ผลิตได้จำนวน 1,675,500 ตัว ได้ปล่อยลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่วนลูกปูที่เหลือได้จัดจำหน่ายและแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปูในพื้นที่ต่างๆ จำนวน 100 ราย/ฟาร์ม พัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการเลี้ยงปูทะเลจากลูกปูระยะลูกปูเล็ก เกษตรกรจำนวน 92 ราย ได้นำลูกปูลงเลี้ยงในบ่อเลี้ยงแล้ว”
ด้านการพัฒนาห่วงโช่อุปทานนั้น รศ.ดร.ซุกรี บอกว่า ได้กำหนดทิศทางการวิจัยไว้สองระดับ คือ การผลักดันในระดับประเทศเพื่อทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบและเทคนิคการเพาะเลี้ยงปูทะเลครบวงจร โดยผลสัมฤทธิ์สำคัญ คือ การผลิตแม่ปูทะเลที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง นำแม่ปูไปให้บริการแบบให้เปล่าแก่โรงเพาะฟักทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศทดแทนการนำเข้าแม่ปูจากต่างประเทศ และส่งเสริมเทคโนโลยีการใช้ลูกปูจากโรงเพาะฟักให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงต่อในบ่อดินเพื่อสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการเลี้ยงปู่ในอนาคต
“ส่วนการสร้างห่วงโซ่คุณค่าในระดับจังหวัด โครงการฯ ได้พัฒนาห่วงโซ่ของปูทะเลในพื้นที่ปัตตานีและสตูล มีความต้องการและจัดหา โดยเฉพาะในปัตตานีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เกษตรกรและชาวประมงสามารถขายปูทะเลได้ในราคาที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ มีความพร้อมของเทคโนโลยี การสร้างความคุ้นเคยกับห่วงโซ่การผลิตใหม่ระดับประเทศและการพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่นขึ้นในพื้นที่”
“ปัญหาการขาดแคลนแม่พันธุ์ปูที่มีไข่นอกกระดองเพื่อใช้ในการเพาะพันธุ์และอนุบาล เป็นอุปสรรคสำคัญในการเพาะและขยายพันธุ์ปูทะเลในประเทศไทย โดยปกติปูทะเลจะอาศัยบริเวณชายฝั่งป่าชายเลน แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องปล่อยไข่ให้ออกไปอยู่นอกกระดอง ปูจะว่ายน้ำในช่วงที่ไข่ยังอยู่ในตัวเพื่อไปหาแหล่งที่เหมาะสมที่ระดับความลึกราว 30 -50 เมตร บริเวณนอกชายฝั่ง แต่เมื่อคณะนักวิจัยฯ ม.อ.ปัตตานี ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดปัตตานี สามารถพัฒนาเทคโนโลยีระบบการกระตุ้นแม่พันธุ์ปูทะเลให้ปล่อยไข่ออกนอกกระดอง ภายในศูนย์เพาะฟักลูกปู ทำให้เราสามารถก้าวข้ามเงื่อนไขอุปสรรคไปได้”
“ระบบและวิธีนี้สามารถกระตุ้นให้แม่ปูที่มีไข่ในกระดองให้ปล่อยไข่ออกนอกกระดองและฟักออกมาเป็นลูกปู เพื่อนำไปอนุบาลได้ถึงร้อยละ 75-85 ปัจจุบันแม่ปูทะเลที่มีไข่นอกกระดองหรือลูกปูที่ผลิตได้จากโครงการวิจัยฯ ได้ถูกส่งมอบให้แก่หน่วยงานที่สนใจ นำเอาลูกปูไปอนุบาลต่อเพื่อให้บริการแก่เกษตรกรและการเพิ่มปริมาณปูทะเลในแหล่งน้ำธรรมชาติ บนหลักการที่เชื่อมโยงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้จังหวัดปัตตานีเป็นเมืองปูทะเลโลก”
ทั้งนี้ รศ.ดร. ซุกรี ได้นำเสนอข้อเสนอต่อรัฐบาลว่า อยากให้ภาครัฐสนับสนุนการพัฒนาการผลิตแม่ปูและพัฒนาพันธุ์ปูของม.อ.ปัตตานี การดำเนินงานของโรงเพาะฟักสัตว์น้ำให้สมบูรณ์เพื่อให้สามารถพัฒนาเทคนิคและผลิตลูกปูได้อย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้กรมประมง มีส่วนร่วมในการผลิต สนับสนุนให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพิ่มการนำพื้นที่ป่าชายเลนมาใช้ประโยชน์ สนับสนุนและต่อยอดการดำเนินงานธนาคารปูม้าชุมชนอย่างต่อเนื่อง กำหนดมาตรการช่วยเหลือด้านราคาปลากะพงขาว สร้างระบบนิเวศทางเลือกอาชีพใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนชายฝั่งที่โยงกับฐานทรัพยากร เช่น การท่องเที่ยวรอบอ่าวปัตตานี เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาแก่ชุมชนชายฝั่งทะเล
ราเชดุล อิสลาม จากบังคลาเทศ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ม.สงขลานครินทร์ เป็นหนึ่งในนักวิจัยร่วมของโครงการฯ ภายใต้กองทุน PSU-TUYF Charitable Trust Fund โดยมี รศ.ดร.ซุกรี ฮายีสาแม จาก ม.อ.ปัตตานี และ รศ.ดร. ศิริพร ประดิษฐ์ จาก ม.อ.หาดใหญ่ เป็นหัวหน้างานและที่ปรึกษาร่วม
ราเชดุลกำลังทำวิจัยเรื่อง “นิเวศวิทยาของประชากร ลักษณะการขุดค้น และการงอกของปูทะเล สกุล Scylla จากพื้นที่ป่าชายเลนอ่าวปัตตานีประเทศไทย” เขาได้รับคัดเลือกให้รับทุน PSU-TUYF Charitable Trust Fund จากม.อ.โดยครอบคลุมค่าเล่าเรียน ค่าครองชีพรายเดือน และทุนวิจัยด้วย
ในความสนใจประเด็นงานวิจัย ร่วมกับ รศ.ดร.ซุกรี นั้น เขาบอกว่า ปูโคลนมีความสำคัญทางการค้าทั่วโลก มีการบริโภคเป็นอาหารทะเลที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นที่ต้องการสูง การได้ร่วมงานกับ รศ.ดร.ซุกรี ฮายีสาแม หัวหน้างานที่นับถือ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในรายชื่อนักวิทยาศาสตร์โลกด้วย
“ผมจึงภูมิใจที่ได้เป็นลูกศิษย์ของเขา เพราะเขามีความสุภาพอ่อนโยน คอยสนับสนุน ให้คำแนะนำที่ดีที่สุดและยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทำให้เขาเป็นตัวเลือกอันดับแรกสำหรับนักเรียนในฐานะหัวหน้างาน ในการปรับตัวที่ปัตตานี ทั้งภาษา การเรียนรู้ และบริบทในพื้นที่ชายแดนใต้ อากาศเกือบจะใกล้เคียงกับบังคลาเทศ ยกเว้นภาคใต้ของไทยไม่มีฤดูหนาวซึ่งเป็นทางเลือกในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่นี่ได้ดีกว่า มีอุปสรรคทางภาษาบ้างแต่เมื่อถึงเวลา ในการสื่อสารขั้นพื้นฐานก็สามารถเรียนรู้ได้จากเพื่อนและคนไทยที่ใจดีให้ความช่วยเหลือ จะดียิ่งกว่าหากสามารถแนบหลักสูตรภาษาไทยกับนักเรียนต่างชาติเพื่อการสื่อสารได้”
เมื่อถามถึงโครงการนี้มีประโยชน์ต่อบังคลาเทศอย่างไร ราเชดุลบอกว่า บังคลาเทศอุดมไปด้วยทรัพยากรทางทะเล ในแต่ละปีจะมีการส่งออกปูจำนวนมากมายังไทย จีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ความรู้เกี่ยวกับระดับการแสวงหาประโยชน์ นิเวศวิทยาโพรง และพฤติกรรมยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดในสาขาการวิจัยและในโลก ซึ่งเป็นประเด็นหลักของการวิจัยของเขา ผลการวิจัยจะถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิผลเพื่อการอนุรักษ์และการจัดการปูทะเลอย่างยั่งยืนในบังคลาเทศและไทย