ขอนแก่นเปิดตัว จยย.ไฟฟ้าแบตเตอรี่ลิเทียม ผลงานนักวิจัย ม.ขอนแก่น พร้อมออกให้บริการแล้ววันนี้ภายในมหาวิทยาลัย ด้วยจุดให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 ม.ค. 2567 ที่อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. รศ  นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ผศ.ดร.อาวุธ ยิ้มแต้รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม และ รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มข., พ.ท.หม่อมราชวงศ์พีรานุพงศ์ ภาณุพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทออสก้าโฮลดิ้ง และบริษัทสตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมกันแถลงข่าวโครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนเพื่อเป็นการสร้างมหาวิทยาลัยให้น่าอยู่เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวมุ่งสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ท่ามกลางความสนใจจากนักวิชาการ และชาวขอนแก่นจำนวนมาก

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.กล่าวว่า มหาวิทยาลัย มียุทธศาสตร์ที่สำคัญ การปรับเปลี่ยนการทำงานวิจัยโดยปรับเปลี่ยนจากการทำวิจัยตามความสนใจของนักวิจัยไปสู่การทำวิจัยเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ใหญ่ที่มีผลกระทบ สูง และนำผลงานวิจัยไปต่อยอดไปใช้จริง เกิดผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรม เพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม และสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าอยู่เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว มุ่งสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยเฉพาะกับ การสนับสนุนนโยบายด้านการขนส่งพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงกํารจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนเป็นตัวอย่างโครงการที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยในหลายๆด้าน

” มหาวิทยาลัยจึงมีนโยบายในการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน ในพื้นที่ มข.โดยการใช้สิทธิเอกชนเข้ามาลงทุน เพื่อให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยการขาย ให้เช่า หรือเช่าซื้อ แก่นักศึกษา และบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมบริหารจัดการ ระบบอำนวยความสะดวก และติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ เพื่อจัดหาผู้ประกอบการ และให้สิทธิ์ในการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า ภายในพื้นที่ เพื่อการต่อยอดการใช้งานภายในจังหวัดต่อไป”

ขณะที่ รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มข. กล่าวว่า มข.เป็นผู้พัฒนาทำวิจับแบตเตอรี่ใหม่ๆหลายๆอย่าง ลิเทียมเป็นตัวแรกที่พัฒนาและวิจัย จนกระทั่งเป็นผลิตภัณฑ์และจากข่าวเร็วๆนี้ การที่มีแหล่งแร่เป็นเรื่องดีทำให้รู้ว่ามีทรัพยากรต้นน้ำกว่าที่จะนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ชนิดต่างๆได้ มีกระบวนการที่เกี่ยวข้องทางเคมีมีอุตสาหกรรมการผลิตขั้วแบตเตอรี่ชนิดต่างๆ อย่างที่เห็นวันนี้คือการเอาแบตเตอรี่ไปใช้งานต้องมีการลงทุนหลายๆจุดทั้งเชิงพัฒนาและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อให้ได้ต้นทุนด้วย

“สิ่งที่นำมาแสดงให้ดูวันนี้คือจักรยานยนต์ไฟฟ้าคือมอเตอร์ไซค์สามารถจดทะเบียนได้สามารถวิ่งตามท้องถนนได้จริงๆ ไม่ใช่จักรยานไฟฟ้าแบบนั้นซึ่งแบบนั้นจะเป็นการใช้แบตเตอรี่อีกกลุ่มซึ่งเป็นแบตเตอรี่ตะกั่วกรดอายุการใช้งานสั้นกว่าประสิทธิภาพน้อยกว่าแบตเตอรี่จากลิเทียม แต่ฝั่งนั้นมีราคาถูกกว่า ส่วนตัวนี้เป็นลิเทียมไอออนมีการใช้งานยาวนานกว่าและมีประสิทธิภาพดีกง่าแน่นอนรองรับการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้สามารถช๊าตเร็วกว่าที่เป็นแบบตะกั่วกรดแน่นอน”

ด้านธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดและเทศบาลนครขอนแก่นมียุทธศาสตร์สมาร์ทซิตี้พูดถึงการลดโลกร้อน การประหยัดพลังงาน เทศบาลทำโครงการต่างๆมากมายเพื่อรองรับในเรื่องนี้ไม่ว่าจะผลักดันรถไฟฟ้ารางเบา รถแทรมน้อยรอบบึงแก่นนคร การติดตั้งโซล่าเซลล์ที่โรงบำบัดน้ำเสีย การทำโรงงานไฟฟ้ากำจัดขยะ ทั้งหมดทำเพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจก

ดังนั้นรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ทางเทศบาลคิดว่าถ้าเราร่วมมือกันช่วยกันประหยัดพลังงานได้จริงเทศบาลพร้อมให้การสนับสนุนแต่สาระสำคัญคือต้องเป็นนโยบายในระดับชาติที่ประชาชนมีโอกาสได้ใช้จริงภายใต้ต้นทุนที่ถูก ถ้าจะทำจริงต้องสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนกำลังคิดว่าอยากจะนำร่องไปที่กลุ่มประธานชุมชนทั้ง 95 ชุมชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เพราะเวลาเรียกใช้ไม่เคยมีรายได้ให้มีแต่ค่าใช้จ่าย

” ถ้าเทศบาลจะเอารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้กลุ่มประธานชุมชนใช้นำร่องซึ่งเรื่องนี้กำลังคุยกับทางตัวแทนบริษัทภายใต้ต้นทุนที่ถูกที่สุด ไม่เป็นภาระในระยะยาวและหลังจากนั้นจะเผยแพร่ให้ประชาชนเห็นว่าใช้งานได้จริงใช้แล้วประหยัดจริงมีข้อมูลยืนยันได้และน่าจะเป็นแรงจูงใจประชาชนมาตระหนักเรื่องนี้ แต่ทุกคนคงจะไม่หันมาใช้หมดแต่คนที่มีความเข้าใจในการสำนึกสิ่งแวดล้อมการลดโลกร้อนนั้นคือความสนใจที่เทศบาลอยากมาร่วมทำ”