คณะกรรมการมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดลำปาง
พ.ญ.ประนอม คำเที่ยง ผู้แทนประธานมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี พร้อมด้วยคณะกรรมการตรวจเยี่ยมฯ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดลำปาง ร่วมตรวจติดตามผลการดำเนินงานด้านสาธารณสุข ของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ประจำจังหวัด ณ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี บ้านทุ่งกล้วย หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมืองลำปาง โดยมี นางสาวนิติยา พงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นตัวแทนในนามจังหวัด นำทีมคณะผู้บริหารสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด-อำเภอ หัวหน้าหน่วยงานประจำตำบล พนักงาน เจ้าหน้าที่ประจำสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ บ้านทุ่งกล้วย ตลอดจนคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเอื้อม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และประชาชนในเขตท้องที่ตำบลบ้านเอื้อม ร่วมกันให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ สำหรับการตรวจเยี่ยมของคณะกรรมการฯ ดังกล่าว เป็นการเดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามผลการดำเนินงาน ของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ที่มีประจำอยู่ในเขตท้องที่ส่วนภูมิภาคกว่า 80 แห่ง ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งทางคณะกรรมการตรวจเยี่ยมฯ ได้ออกตรวจติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะๆ ทุกๆ 2 ปี เพื่อจะขอรับทราบข้อมูลถึงปัญหาอุปสรรคในการทำงาน และร่วมหาแนวทางในการสนับสนุนเพื่อการพัฒนาระบบการบริหาร การบริการด้านสาธารณสุข และด้านการพยาบาล ของสถานีมัยเฉลิมพระเกียรติฯ ให้เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน และให้มีการพัฒนาสถานีมัยเฉลิมพระเกียรติฯ ไปสู่การเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต้นแบบที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และสมาชิกกลุ่มเครือข่ายในเขตพื้นที่ส่วนภูมิภาค โดยในการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ ทางสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ บ้านทุ่งกล้วย ได้ทำการนำเสนอผลการดำเนินงานในประเด็นหลักด้านต่างๆ ทั้งด้านข้อมูลสถานะสุขภาพ การดำเนินโครงการกิจกรรมการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุข กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ และปัญหาอุปสรรคกับแนวทางในการดำเนินงาน ที่ต้องการขอรับการสนับสนุน พร้อมกับได้มีการนำเสนอผลงานนวัตกรรมรอบด้านของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษาฯ บ้านทุ่งกล้วย ซึ่งมีทั้งผลงานด้านการรักษาพยาบาล ด้านการป้องกันและควบคุมโรค ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ และด้านการแพทย์แผนไทย ซึ่งใน
โอกาสนี้ พ.ญ.ประนอม คำเที่ยง ผู้แทนประธานมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี พร้อมคณะฯ ได้ให้เกียรติเยี่ยมชมผลงานนวัตกรรมด้านต่างๆ ของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ บ้านทุ่งกล้วย ซึ่งมีนวัตกรรมผลงานเด่นที่ได้สร้างความชื่นชมให้กับคณะกรรมการตรวจเยี่ยม ทั้งในเรื่องของการแก้ปัญหาดูแลสุขภาพอนามัยให้แก่พี่น้องประชาชนในชุมชนพื้นที่ที่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ “ดี เก่ง งาม สมพระเกียรติ” / การดำเนินงานส่งเสริมองค์กรรอบรู้ ด้านสุขภาพ-จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ HLO คัดกรองและควบคุมสถานการณ์โรคเบาหวาน / การดำเนินงานบริการด้านสุขภาพโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ Digital transformation และการดำเนินงานโครงการดูแลแม่และเด็ก “มหัศจรรย์ 1000 วัน”
โดยสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ บ้านทุ่งกล้วย ถือเป็นสถานีอนามัยต้นแบบที่ได้มีการดำเนินงานด้านสุขภาพดูแลทั้งผู้สูงอายุไปจนถึงเด็กเล็ก มีระบบการบริหารจัดการที่ดีเพื่อแก้ปัญหาควบคุมโรคติดต่อไม่เรื้อรัง เฉพาะอย่างยิ่งได้มีการดำเนินโครงการ “มหัศจรรย์ 1000 วัน” คอยดูแลเด็กเล็กตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ไปจนถึงอายุ 2 ปีครึ่ง ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนสร้างพัฒนาการที่ดีให้แก่เด็กเพื่อที่เด็กจะได้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ โดยการดำเนินงานทั้งหมดสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ บ้านทุ่งกล้วย ได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบในระดับปฐมภูมิ เชื่อมโยงประสานกับสถานพยาบาลหลักโรงพยาบาลลำปาง ซึ่งได้จัดให้มีบุคลากรแพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวมาคอยดูแลสุขภาพอนามัยให้กับประชาชนในเขตบริการอย่างครอบคลุมครบถ้วน
สำหรับสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี บ้านทุ่งกล้วย ถือเป็นสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ เพียงแห่งเดียวในจังหวัดลำปาง โดยได้เริ่มเปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2520 และได้รับการพัฒนายกระดับเป็นสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ตั้งแต่ปี 2535 ทำหน้าที่เป็นสถานพยาบาลแม่ข่ายให้แก่สถานีอนามัยใกล้เคียงในเขตท้องที่ตำบลบ้านเอื้อมและตำบลบ้านค่า รวม 4 สถานี มีเขตพื้นที่บริการรับผิดชอบทั้งหมด 9 หมู่บ้าน โดยตลอดช่วงระยะเวลาที่เปิดดำเนินการสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ บ้านทุ่งกล้วย ได้มีการเปิดให้บริการแก่ประชาชน ครอบคลุมทั้งในด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และที่ผ่านมาได้มีการพัฒนางานด้านการสาธารณสุข ทำการเผยแพร่ให้ความรู้ด้านสุขอนามัยแก่ประชาชนในเขตบริการ ซึ่งได้ช่วยให้อัตราการป่วยของประชากรในพื้นที่ ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคระบบกล้ามเนื้อ และโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ มีอัตราลดลงเป็นลำดับในทุกๆ ปี